ทำไมต้องยื่นภาษีร้านค้า? พร้อมตอบ 7 คำถามที่หลายคนอยากรู้

หน้าปก การยื่นภาษีร้านค้า

สำหรับผู้อ่านที่เป็นผู้ประกอบการเปิดร้านค้าปลีกทั้งหลาย มีใครที่ยังไม่ “ยื่นภาษีร้านค้า” บ้างคะ? ถ้ามีหลายท่านที่ยังไม่ยื่นภาษีและอยากรู้ว่าทำไมร้านค้าต้องยื่นภาษีด้วย รวมถึงมีข้อสงสัยในบางประการเกี่ยวกับเรื่องนี้ PN Storetailer จะมาตอบคำถามเหล่านั้นให้คุณเองค่ะ

1. ทำไมต้องยื่นภาษีร้านค้า?

ตอบ : 1) เป็นสิ่งที่ควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย 

2) เพื่อไม่ให้สรรพากรเข้ามาตรวจสอบทีหลัง

ไม่ว่าคุณจะเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือทำธุรกิจเปิดร้านค้าอะไรก็ตาม คุณก็จะต้อง “ยื่นภาษี” ทั้งสิ้นเพื่อแสดงรายได้ที่รับมาตลอดทั้งปีของตนเอง และเป็นสิ่งที่ควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านค้าที่เปิดทั่วไป การยื่นภาษีร้านค้ายังเป็นการทำเพื่อไม่ให้สรรพากรเข้ามาตรวจสอบคุณทีหลัง (เพราะถ้ามาตรวจสอบทีหลัง คุณอาจต้องเสียภาษีที่มากกว่าเดิมและอาจโดนปรับตามกฎหมายได้) 

การยื่นภาษี ≠ การเสียภาษี 

ถ้าคำนวณรายได้ทั้งปีแล้วไม่เกิน 150,000 บาท คุณก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี แต่ควรจะยื่นภาษีเพื่อความบริสุทธ์ใจของตัวคุณเอง ความน่าเชื่อถือของร้านค้าที่คุณเปิด และความถูกต้องตามกฎหมายค่ะ 

2. เปิดร้านค้าทั่วไปต้องเสียภาษีอะไรบ้าง? 

ในการเปิดร้านที่มีหน้าร้าน โดยทั่วไปคุณจะต้องมีสถานที่ตั้งและป้ายหน้าร้าน คุณจึงจะต้องเสียภาษีดังนี้ค่ะ

1) ภาษีป้าย

2) ภาษีโรงเรือน

ซึ่งคุณจะต้องไปเสียภาษี 2 อันนี้ที่เทศบาลท้องถิ่น หรือ อบต. 

3) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีที่เป็นร้านทั่วไปไม่ได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล คุณจะต้องทำรายรับ, รายจ่าย ตลอดทั้งปีของคุณเพื่อสิ้นปีจะต้องเอารายได้ทั้งหมดไปยื่นสรรพากร 

สำหรับร้านค้าทั่วไป จะเป็นเงินได้จากธุรกิจที่มีหน้าร้านเป็นของตนเองอยู่ในมาตรา 40(8) ซึ่งจะต้องยื่นภาษีแบบ ภ.ง.ด.90 

ปล. กรณีร้านขายของชำหรือร้านที่มีเหล้า, บุหรี่ จะต้องเสียภาษีเพิ่มอีกกับกรมสรรพสามิต 

3. ทำบัญชีรายรับรายจ่ายไปทำไม?

ตอบ : สำหรับร้านทั่วไป : การเงินและรายได้ของคุณจะชัดเจน ทำให้ง่ายต่อการคำนวณภาษี
สำหรับร้านที่มีต้นทุนสูง และมีกำไรน้อยกว่า 40% :
1) นำไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษี
2) เพื่อให้การจ่ายภาษีตรงกับความเป็นจริง
3) คุณจะไม่เสียเปรียบสรรพากร

ซึ่งการจ่ายภาษีนั้น เราต้องบอกก่อนว่ามีทางเลือก 2 แบบ คือ

1) แบบเหมา หักต้นทุน 60%

เหมาะกับผู้ที่มีอัตรากำไรสูงถึง 40% หรือมากกว่า กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อยื่นภาษี และไม่ต้องพิสูจน์รายได้ ให้สรรพากรเก็บตามนั้นไปเลย

2) แบบค่าใช้จ่ายตามจริง

เหมาะกับคนที่มีต้นทุนสูง และมีกำไรน้อยกว่า 40% ซึ่งการทำรายรับ,รายจ่าย และกำไรในทุก ๆ เดือนและเอาไปสรุปสิ้นปีก็เพื่อ

  • การเงินและรายได้ของคุณจะชัดเจน เพราะคุณจะรู้รายรับ, รายจ่าย, ต้นทุน และกำไรของร้านคุณเองมากที่สุด  
  • นำไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษี เพราะหากไม่มีบัญชีรายรับรายจ่าย ก็จะไม่สามารถคำนวนภาษีจริง ๆ ของคุณได้ 
  • คุณจะไม่เสียเปรียบสรรพากร เพราะปกติแล้วถ้าคุณรอสรรพากรมาประเมิน พวกเขาอาจประเมินภาษีที่สูงเกินค่าใช้จ่ายจริงของคุณ (เพราะเขาจะคิดแบบเหมา 60% เหมือนกันทุกร้าน) จากที่ต้องเสียแค่ไม่กี่ร้อย อาจจะต้องเสียเป็นพันเลยก็ได้  

» ตัวอย่างเช่น 

ถ้าคุณเปิดร้านขายของชำ คุณมีค่าใช้จ่ายกับต้นทุนไปประมาณ 80% คุณก็จะนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามเปอร์เซ็นต์นี้ 

แต่ถ้าคุณรอสรรพากรมาคำนวณให้ สรรพากรจะคิดต้นทุนแบบเหมาตามมาตรฐานให้คุณ 60% แน่นอนว่าการคิดต้นทุนแบบนี้มันน้อยกว่าความเป็นจริงที่คุณจ่ายไป 

คุณอาจจะมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่สูง แถมยังมีกำไรน้อยมาก ๆ แต่การคิดต้นทุนแบบเหมาจากสรรพากรทำให้คุณก็จะต้องจ่ายภาษีสูงขึ้นไปอีก ฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคุณควรทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายค่ะ 

สรุปก็คือ :

ร้านค้าที่มีกำไรมากกว่า 60% ถ้าจ่ายแบบเหมา ก็ไม่ต้องทำรายรับรายจ่ายเพื่อยื่นภาษีก็ได้

แต่สำหรับร้านที่มีกำไรน้อยกว่า 40% ทำเพื่อให้การจ่ายภาษีตรงกับความเป็นจริง (เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่สรรพากรเข้า เขาอาจจะใช้มาตรฐานการเรียกเก็บภาษีทั่วไปแบบเหมาที่ใช้กับทุกร้าน ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับรายรับ-รายจ่ายที่แท้จริงของคุณ ทำให้คุณอาจจะต้องจ่ายภาษีที่สูงกว่าเดิมได้)

วิธีการทำบัญชีแบบทั่วไป
  • เก็บใบเสร็จหรือบิลทุกอย่างเอาไว้ เวลาจ่ายอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับร้านค้าของคุณ จะต้องขอบิลเก็บไว้ทุกครั้ง พึงนึกไว้เสมอว่า บิลทุกใบคือต้นทุน เช่น บิลจากห้างที่ไปซื้อ, บิลบริษัทขายส่ง, บิลจากรถส่งของ เป็นต้น 
  • จดต้นทุนทุกอย่างในแต่ละวันลงในตารางรายรับ-รายจ่าย
  • จดยอดขาย และสรุปกำไรไว้ในทุก ๆ วัน เพื่อนำไปรวบรวมเป็นรายได้ในแต่ละเดือน 

หากคุณอยากทำบัญชีเอง สามารถดาวน์โหลด แบบฟอร์มตารางรายรับ-รายจ่ายของกรมสรรพากร << ได้ที่ลิ้งค์นี้เลยค่ะ 

หรือถ้าหากคุณไม่สะดวกที่จะทำบัญชีเอง ก็สามารถจ้างคนทำบัญชีในท้องถิ่นของคุณได้ ซึ่งการจ้างคนทำบัญชีน่าจะคุ้มกว่าการที่คุณจ่ายเงินให้สรรพากรแบบเหมาค่ะ 

» ตัวอย่างการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของร้านค้า

〈Tips〉 : สำหรับร้านค้าที่ยื่นภาษีแบบบุคคลธรรมดา ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนแทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ได้นะคะ

4. คำนวณภาษีอย่างไร?

การคำนวณภาษีร้านค้าแบบมาตรฐานทั่วไปแบบเหมา สำหรับคนที่ยื่นภาษีบุคคลธรรมดา จะต้องคำนวณคร่าว ๆ ดังนี้ 

“รายได้ 1 ปี 

หักต้นทุน 60%

หักลดหย่อนส่วนตัว 6 หมื่นบาท”

ถ้าเกิน 150,000 บาท คุณต้องเสียภาษี 

» ตัวอย่างการคำนวณที่ 1

ขายของมีรายได้วันละ 1,000 บาท (คิดเป็นเดือนได้ 30,000 บาท) 

รายได้ 1 ปี จะมีทั้งหมด = 360,000 บาท 

หักต้นทุน 60% จะเหลือ = 144,000 บาท

หักลดหย่อน 6 หมื่น จะเหลือ = 84,000 บาท (ไม่เกิน 150,000 = ไม่ต้องเสียภาษี

» ตัวอย่างการคำนวณที่ 2 

ขายได้วันละ 2,000  (เดือนละ 60,000 บาท) 

รายได้ 1 ปี = 720,000 บาท

หักต้นทุน 60% จะเหลือ = 288,000 บาท

หักลดหย่อน 6 หมื่น จะเหลือ = 228,000 บาท

จะเท่ากับว่ารายได้ของคุณ เกินแสนห้ามา 78,000 บาท จะโดนภาษี 5% = 3,900 บาท 

〈Tips〉 : กรณีต้นทุนของคุณสูงกว่า 60% คุณจะสามารถยื่นหลักฐานจำนวนต้นทุนเพิ่มได้ 

  • การทำบัญชีอย่างละเอียด 
  • บันทึกต้นทุนให้ครบ 
  • เก็บเอกสารและบิลทุกบิลไว้อย่างดี

คุณจะสามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้มากกว่า 60% 

ส่วนถ้าหากคุณไม่ทำบัญชี แม้ต้นทุนจริง ๆ ของคุณจะมากน้อยแค่ไหน สรรพากรเขาก็คิดเหมาให้แค่ 60% ค่ะ 

  • การลดหย่อนภาษี

ในการลดหย่อนภาษีโดยปกติแล้วคุณจะได้ค่าลดหย่อนส่วนตัว 6 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีอื่น ๆ อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น  

  • ลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร, ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่
  • ประกัน เช่น ประกันสังคม, ประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต 
  • กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุน RMF
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ช้อปช่วยชาติ, เที่ยวทั่วไทย เที่ยวเมืองรอง
  • เงินบริจาค เช่น พรรคการเมือง, การศึกษา, กีฬา 

ซึ่งแต่ละคนจะได้ค่าลดหย่อนภาษีต่างกันออกไป สำรวจให้ดี ๆ ว่าคุณมีสิทธิ์ลดหย่อนอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์และช่วยให้คุณลดหย่อนภาษีได้มากกว่าเดิม รวมถึงมันจะส่งผลให้คุณเสียภาษีในจำนวนที่น้อยลงนั่นเองค่ะ 

5. ไม่ยื่นภาษีร้านค้าจะเป็นไรไหม?

ตอบ : หากคำนวณภาษีแล้วไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่าย ก็อาจไม่ส่งผลอะไร

แต่หากถึงเกณฑ์ แต่คุณไม่ได้ยื่นและจ่ายภาษี เมื่อสรรพากรเข้ามาตรวจสอบ คุณอาจจะต้องได้เสียภาษีและโดนค่าปรับจากการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

การที่คุณไม่แสดงตัวตน ไม่ยื่นภาษีร้านค้าของคุณเอง อาจจะยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นหากสรรพกรไม่เข้ามาตรวจสอบ แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งที่สรรพากรเพ่งเล็งร้านค้าของคุณแล้วเข้ามาตรวจสอบ พร้อมกับถามว่าคุณยื่นภาษีร้านค้าแล้วหรือยัง? วันนั้นคุณอาจจะต้องได้เสียภาษีและโดนค่าปรับจากการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ในกรณีที่รายได้ของคุณอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจ่าย 

หากคุณเปิดร้านค้าแล้วถ้าไม่อยากเจอแจ็คพ็อตแบบนี้ ก็แสดงตัวตนด้วยการยื่นภาษีเพื่อความสบายใจและความถูกต้องตามกฎหมายนะคะ 

โทษของการไม่ยื่นภาษี 

  • กรณีไม่ยื่นภาษี หรือแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90,91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  • ถ้าเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ → กรณีไม่ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกำหนดเวลา)

6. สิ่งที่ต้องเตรียมในการยื่นภาษี 

  1. หลักฐานแสดงรายรับ – รายจ่าย ของร้านคุณทั้งปี
  2. หลักฐานต้นทุนทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ใบเสร็จหรือบิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ, บิลต้นทุนการซื้อสินค้า, ใบกำกับภาษี, บิลค่าน้ำ ค่าไฟ, บิลค่าเช่าที่ ฯลฯ 
  3. รายการลดหย่อนภาษีทั้งปีที่คุณมี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร, กองทุนและประกันต่าง ๆ 
  4. เอกสารประกอบการลดหย่อน เพื่อนำมาใช้ในการกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี เช่น เบี้ยประกันชีวิต, จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน

7. ยื่นภาษีได้ที่ไหน? 

การยื่นภาษี จะสามารถยื่นได้ตามนี้ 

  1. ไปยื่นได้ด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร
  2. ยื่นผ่านแอปพลิเคชั่น RD Smart Tax แต่ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน
  3. ยื่นภาษีออนไลน์ ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร rd.go.th

หากคุณอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ → คู่มือภาษีสำหรับผู้ประกอบการ

✔สรุป

“การยื่นภาษีร้านค้า” เป็นเรื่องที่คนเปิดร้านค้าควรทำ เพราะถ้าเราไม่ศึกษาและไม่เข้าไปยื่นด้วยตัวเองตั้งแต่แรก สุดท้ายแล้วถ้าคุณมีหน้าร้าน สรรพากรก็จะเข้ามาตรวจสอบร้านค้าของคุณและเรียกเก็บภาษีที่ร้านค้าของคุณอยู่ดี 

และถ้าเมื่อไหร่ที่สรรพากรเข้า เขาอาจจะใช้มาตรฐานการเรียกเก็บภาษีทั่วไปแบบเหมาที่ใช้กับทุกร้าน ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับรายรับ-รายจ่ายที่แท้จริงของคุณ ทำให้คุณอาจจะต้องจ่ายภาษีที่สูงกว่าเดิมได้ คุณจึงควรจะ

  • เก็บหลักฐานต้นทุนทั้งหมดไว้ 
  • บันทึกรายรับ-รายจ่ายทั้งปีอย่างครบถ้วน 
  • เช็คลิสต์รายการลดหย่อนภาษีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง 
  • ยื่นภาษีด้วยตัวเอง 

นั่นจะทำให้คุณได้จ่ายภาษีที่ถูกต้องและสมเหตุสมผลตามจำนวนที่ควรเป็นค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณจะต้องซื่อสัตย์ด้วยนะคะ ป้องกันโทษที่จะตามมาภายหลังด้วยเน้อ 

ผู้เขียนเข้าใจว่าทุก ๆ คนมีเหตุผลที่น่าหนักใจเกี่ยวกับการเสียภาษี แต่มันก็เป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้นน่ะเนอะ ยังไงเราก็เป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนนะคะ ใครที่ยังให้สรรพกรมาเก็บเองอยู่ ลองทำแล้วไปยื่นด้วยตัวเองดูน้าา

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

  • ยื่นภาษีกับ 10 คำถามที่พบบ่อย : itax
  • วิธียื่นภาษีออนไลน์ : finspace 
  • เปิดร้านต้องเสียภาษีอะไรบ้าง : youtube/บ้านบัญชี T.O.Y.    
  • ร้านค้า บุคคลธรรมดา ยอดขายเท่าไหร่เริ่มเสียภาษี : youtube/YANAKON CHANNEL
  • สิทธิลดหย่อน 2564 : bolttech
  • ปรึกษาเรื่องภาษีร้านค้าใน Pantip : pantip/topic/30191487 
  • เอกสารเตรียมยื่นภาษีออนไลน์ : bangkokbiznews 
  • เตรียมเสียภาษี!! ร้านค้า “เราชนะ” ต้องยื่นภาษีแล้ว : youtube/
    9 MCOT Official
     
  • การทำบัญชี : accountingcenter
  • เปิดร้านขายของชำเล็กๆแต่โดนภาษีจ่ายไม่ไหว : moneyduck
  • อยากรู้ว่า ร้านขายของชำต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ? เท่าไหร่ ยังไงคะ? pantip/topic/36963784 
  • เลขประจำตัวประชาชนใช้แทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร : rd.go.th 

ใส่ความเห็น