คุณอาจเคยได้ยินสถิติที่ว่า
“90% ของผู้คน มักจะเดินเลี้ยวขวาก่อน เมื่อเข้าไปในร้านค้าปลีก”
นักมานุษยวิทยา, นักออกแบบภายใน, ผู้จัดการผลิตภัณฑ์,และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ได้ใช้เวลานับไม่ถ้วนในการค้นหารูปแบบร้านค้าที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับพื้นที่ค้าปลีก
หากคุณกำลังจะเปิดร้านค้าปลีกสักร้าน หรือคุณกำลังจะออกแบบผังร้านค้าใหม่ และต้องการใช้ความรอบคอบเป็นอย่างมากในการจัดวางพื้นที่ภายในร้านให้เหมาะสม
ถ้าคุณอ่านบทความนี้.. คุณไม่จำเป็นต้องเสียเงินซักนิดในวิจัยด้วยตัวเองเลยค่ะ
เนื่องจากเรากำลังจะมาแบ่งปัน..“แผนผังร้านค้าปลีก” และเคล็ดลับการออกแบบภายในร้านค้า ที่มีการพิสูจน์มาแล้วในสากลว่าเจ๋งจริง!! อย่ารอช้า รีบตามมาอ่านกันเลย
แผนผังร้านค้าคืออะไร?
แผนผังร้านค้า คือ แผนผังที่กำหนดทิศทางการเดินของลูกค้าที่เข้ามาในร้าน กำหนดตำแหน่ง ชั้นวางสินค้า ให้เป็นไปตามที่ผู้ค้าปลีกต้องการ เพื่อนำเสนอสินค้าและกระตุ้นผู้คนให้เกิดการซื้อ
รู้มั้ยคะ? ว่าประสบการณ์เหล่านี้ของผู้บริโภค ที่ได้รับจากการช้อปปิ้งในร้านของคุณ มันคือส่วนหนึ่งของการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ให้กับแบรนด์หรือธุรกิจร้านค้าที่คุณสร้างขึ้นมา
ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสร้างสรรค์อย่างพิถีพิถัน เช่นเดียวกับแง่มุมอื่น ๆ ในการ สร้างแบรนด์
ลองมาอ่านเรื่องนี้ดูค่ะ จะได้เข้าใจมากขึ้น
“เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาในร้าน ประมาณ 5-15 ฟุต” บริเวณนี้จะเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่าน ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่โล่ง ๆ ไม่ควรคับแคบหรืออัดแน่น เพราะมันเป็นจุดที่ลูกค้าจะมองไปรอบ ๆ ร้านค้าแบบมุมกว้าง ดังนั้น.. ‘อะไรก็ตาม ที่วางอยู่ในพื้นที่นี้ จะไม่มีใครสังเกตเห็น’
คุณจึงควร “หลีกเลี่ยง” การวางสิ่งของสำคัญไว้ตรงนี้ เช่น กระบะโปรโมชั่น หรือสินค้าขายดีที่มีความต้องการสูง
อย่างที่เราเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นค่ะ ว่าคนส่วนใหญ่มักจะเลี้ยวขวา หลังจากที่เข้ามาในร้าน โดยจะเริ่มต้นเดินตามผังร้านค้าที่คุณได้วางไว้ สิ่งแรกที่พวกเขาเห็นหลังจากเลี้ยวขวาจึงเป็นโซนของ Power Wall (หรือเรียกว่าเป็นโซนที่ทรงพลังมาก) คุณจึง “ควร” วางสินค้าเหล่านี้ “ไว้ทางด้านขวา” ไม่ว่าจะเป็น
- สินค้าที่มีความต้องการสูง
- สินค้าพรีเมี่ยม ที่ต้องการส่งเสริมการขาย
- สินค้าที่ดึงดูดลูกค้า
- สินค้าตามเทศกาล
เพราะมันจะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าคนจะเห็นสินค้าแน่นอน นอกจากจะส่งเสริมการขายแล้ว ยังสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อีกด้วย
เห็นมั้ยคะว่า แผนผังร้านค้า มีอิทธิพลมากต่อเส้นทางการหมุนเวียนของผู้คน ที่เดินเลือกซื้อของในร้านของคุณ
ต่อไปเรามาดูผังร้านค้ายอดนิยม 4 แบบ ที่คุณสามารถใช้เป็นต้นแบบในการเปิดร้านได้กันค่ะ
1. แผนผังร้านแบบ Grid
หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับรูปแบบร้านค้าแบบนี้นะคะ เพราะร้านค้าส่วนใหญ่จะใช้แผนผังร้านค้าแบบ Grid
สินค้าจะแสดงในรูปแบบทางเดินยาวที่คาดเดาได้ จึงทำให้ลูกค้าสามารถหาของที่ต้องการซื้อได้อย่างง่ายดาย เพราะผังร้านค้าแบบกริดนี้ มันช่วยให้การแสดงผลิตภัณฑ์บนชั้นวางชัดเจน และลดพื้นที่สีขาวให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้มันเต็มไปด้วยสินค้านั่นเองค่ะ
ตัวอย่างร้านค้า ส่วนใหญ่จะพบเจอใน
- ร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-11 , Family mart
- ร้านขายยาทั่วไป
- ร้านขายของชำเกือบทุกแห่ง
- ห้างสรรพสินค้า เช่น Tesco Lotus, BigC
ลักษณะของแผนผังแบบ Grid
- จะวาง สินค้าที่กระตุ้นให้ลูกค้าซื้อ จากด้านหน้าไปถึงด้านหลัง เพื่อเป็นการกำหนดเส้นทางการเดินของลูกค้า ให้สำรวจสินค้าที่กระตุ้นความสนใจไปเรื่อย ๆ
- ด้านหลังจะเป็น สินค้าค้าหลักที่ลูกค้าจำเป็นต้องซื้อ หลังจากที่ลูกค้าเดินตามทางมาแล้ว จะเจอกับสินค้าหลักบริเวณนี้ (แต่กว่าพวกเขาจะมาถึงตรงนี้ได้ พวกเขาจะเจอกับสินค้าที่ล่อตาล่อใจมากมาย นั่นทำให้พวกเขาซื้อของเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังไงล่ะคะ )
- เพิ่มป้ายโฆษณาหรือ Shelf talkers ตรงหัวเชลฟ์หรือบริเวณชั้นวางสินค้า เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้าต่อสินค้าบนชั้นวางมากขึ้น
- มีระยะห่างระหว่างทางเดิน 4 ฟุต ป้องกันลูกค้าเดินชนกัน
- วางสินค้าที่มีความต้องการสูง ไว้ทางด้านขวา เพื่อให้ลูกค้าสะดุดตาตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามาเดิน
ข้อดีของแผนผังแบบ Grid
- เหมาะสำหรับร้านค้าที่มีสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อสินค้ามีความหลากหลาย
- เผยให้เห็นสินค้าได้อย่างชัดเจน ไม่ซับซ้อน
- กระตุ้นให้ลูกค้าเดินดูสินค้าหลาย ๆ ทาง
- ลูกค้าคุ้นเคยกับผังร้านค้าแบบนี้
- คุณสามารถวางโปรโมชั่นในจุดที่คุณรู้ว่าลูกค้าจะเห็นได้ง่าย
ส่วนข้อด้อย ก็คงเป็นเรื่อง แผนผังนี้ถูกใช้เยอะจนโหล สามารถเห็นได้ทั่วไป ไม่แปลกใหม่ ลูกค้าอาจไม่ได้ประสบการณ์การช้อปที่แตกต่างค่ะ
แต่ถึงยังไง ‘แผนผังร้านค้าแบบนี้ ก็เป็นแนวทางที่ดีที่สุด’ ที่ได้รับการวิจัยมาเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว คุณสามารถนำไปใช้เปิดร้านของคุณได้ รับรองว่าเวิร์คค่ะ!!
✎ แบรนด์ร้านค้าปลีกระดับโลกอย่าง Walmart ก็ใช้แผนผังนี้ในการออกแบบร้านค้าค่ะ
2. แผนผังร้านแบบ Herringbone
หากคุณคิดว่าผังร้านค้าแบบกริด จะเหมาะกับสินค้าคุณแล้วล่ะก็ .. ลองมาพิจารณา แผนผังร้านค้าแบบ Herringbone กันดูมั้ยคะ?
ผังร้านแบบก้างปลา หรือ Herringbone จะมีความคล้ายแบบกริดมาก แต่จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ แผนผังแบบก้างปลาจะนำชั้นวางสินค้าไว้ทั้งสองฝั่งติดผนัง และปิดไม่ให้เดินทะลุผ่านกันได้
ตัวอย่างร้านค้า
- ร้านหนังสือ
- ร้านฮาร์ดแวร์ขนาดเล็ก
- ห้องสมุดชุมชนขนาดเล็ก
ลักษณะของแผนผังแบบ Herringbone
- จะคล้ายแบบกริดตรงที่ สินค้าที่มีความต้องการสูง จะอยู่ด้านขวา
- ชั้นวางจะติดผนังแยกเป็นสองฝั่ง
- เส้นทางการเดินของลูกค้า จะไม่สามารถเดินทะลุผ่านกันไปมาได้ ทำได้เพียงเดินย้อนกลับไปทางเดิม เพื่อไปที่ชั้นวางโซนใหม่
- เคาน์เตอร์คิดเงิน จะอยู่ท้ายสุดของร้าน
ข้อดีของแผนผังแบบ Herringbone
- เหมาะสำหรับร้านค้าที่มีสินค้าจำนวนมาก “แต่มีพื้นที่น้อย”
- เหมาะกับร้านค้าสไตล์โกดัง ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานได้
- เหมาะกับร้านที่อยากให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับสินค้านาน ๆ
- เหมาะกับร้านที่ลูกค้ามีความตั้งใจที่จะซื้อสินค้านั้นมาก ๆ เพราะต้องใช้เวลาในการอยู่กับชั้นวางเหล่านั้นนานหน่อยโดยที่ไม่เบื่อ
ส่วนข้อด้อย คือ มันจะมองไม่เห็นช่องทางเดินถัดไป และทางเดินมันไม่ทะลุถึงกัน ต้องเดินเข้าไปและเดินกลับออกมา
นอกจากจะทำให้ลูกค้าต้องเดินซ้ำซ้อนไปมา การปิดทางแบบนี้ มันสามารถเพิ่มโอกาสในการขโมยของในร้านได้ (จึงต้องติดกล้องวงจรปิดดี ๆ นะคะ)
ตัวอย่าง คุณสามารถใช้บริเวณชั้นวางทางด้านขวา สำหรับส่งเสริมการขายและจัดโปรโมชั่นได้ หรือถ้าเป็นร้านหนังสือ อาจทำให้เป็นจุดรวมหนังสือขายดี 10 อันดับ เป็นต้น
ร้านบางสือบางแห่งชอบใช้แผนผังนี้ เพราะเขาต้องการให้ผู้คนได้รับประสบการณ์ที่ดีและมีความสุขที่สุด จึงทำมุมที่มีโต๊ะและเก้าอี้ให้นั่งสบาย ๆ ในส่วนท้ายของร้าน ก่อนที่ลูกค้าจะจ่ายเงินหรือออกไปจากร้านโดยไม่ซื้ออะไร
เพื่อให้พวกเขามีตัวเลือกว่า เอ๊ะ? จะออกไปเลย หรือจะนั่งอ่านหนังสือต่อดี มันช่วยให้ร้านดูมีลูกเล่นที่ดึงลูกค้าให้อยู่ที่ร้านของคุณนาน ๆ นั่นเองค่ะ
3. แผนผังร้านแบบ Loop (Racetrack)
แผนผังร้านค้าแบบ Loop (Racetrack) หรือผังร้านค้าแบบลู่วิ่ง เป็นการทำให้แผนผังแบบกริด ง่ายไปอีกขั้น
โดยจะจัดวางเป็นวงแบบปิดโดยรอบ มีจุดประสงค์คือ
“ต้องการให้ลูกค้าเดินผ่านสินค้าทุกประเภท ในทุก ๆ ชั้นวาง ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงจุดชำระเงิน”
ส่วนตรงกลาง จะเป็นไฮไลท์ของร้าน โปรโมชั่น หรือสินค้าที่จะต้องส่งเสริมการขายค่ะ
ตัวอย่างร้านค้า ที่ควรใช้แผนผังนี้ เช่น
- ร้านเสื้อผ้า
- ร้านสกินแคร์และเครื่องสำอาง
- ร้านอุปกรณ์กีฬา
- ร้านขายของแต่งรถ
- ร้านเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน
ลักษณะของแผนผังแบบ Loop
- ทุกอย่างจะอยู่ตรงกลางหมด ไม่ว่าจะเป็น เคาน์เตอร์คิดเงิน, สินค้าที่น่าสนใจ, สินค้าที่อยากโชว์หรือส่งเสริมการขาย, สินค้ากระตุ้นการซื้อ
- ส่วนสินค้าที่มีความต้องการสูงก็จะอยู่ด้านขวาเหมือนเดิม
- โดยรอบร้านจะเป็นสินค้าหลัก ๆ ค่ะ
ข้อดีของแผนผังแบบ Loop
- เห็นสินค้าทุกประเภทอย่างชัดเจน
- วางสินค้าโปรโมชั่นง่ายและมั่นใจได้ว่าลูกค้าจะเห็นแน่นอน
- เหมาะกับร้านค้าที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการเดินสำรวจ
ส่วนข้อด้อย ของแผนผังแบบนี้ก็คือ มันอาจเสียเวลาสำหรับลูกค้าที่รู้อยู่แล้วว่าพวกเขาจะซื้ออะไร หรือตัดสินใจซื้อในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งมันยังไม่เหมาะกับร้านค้า ที่อยากให้ร้านมีการหมุนเวียนสูง เพราะเส้นทางมันถูกบังคับไปแล้วว่าต้องเดินวนไปรอบ ๆ
✎ แผนผังนี้มันจึงนำมาใช้กับร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังระดับโลก อย่าง IKEA
ถ้าคุณเคยไป IKEA คุณจะรู้ดีว่ามันมีข้อดีหรือข้อเสียอะไร เพราะสำหรับคนที่ต้องการใช้เวลาไตร่ตรอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจุดประกายไอเดียในการแต่งบ้าน จะรู้สึกชอบแผนผังร้านค้าแบบนี้มาก
แต่สำหรับคนที่ไปที่นั่น เพื่อซื้อของบางอย่างที่คิดมาจากบ้านแล้ว ว่าจะเอาอันนี้นะ แผนผังร้านแบบนี้ มันจะทำให้คุณหงุดหงิดหน่อย ๆ เลยแหละค่ะ
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยนะ ที่แผนผังนี้เป็นแบบเดียวกับบ้านผีสิง ( T_T ) เพราะมีแนวคิดเดียวกันคืออยากให้คนที่เข้ามา ได้รับประสบการณ์และได้ใช้เวลาข้างในนาน ๆ นั่นเองค่ะ
แต่แผนผังร้านค้าแบบ Loop ก็ไม่ได้ทำให้หงุดหงิดเสมอไป ถ้าคัดเลือกสินค้ามาอย่างดี และจัดเรียงประเภทสินค้า เพื่อจุดประสงค์ที่เหมาะสมค่ะ
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม :
4. แผนผังร้านแบบ Free-Flow
หลักของแผนผังร้านค้าแบบ Free-Flow ก็คือตรงตัวเลยค่ะว่า “อิสระ” ซึ่งการจัดร้านแบบนี้จะกระจายตัว และไม่ได้บังคับให้ลูกค้าเดินไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน แต่จะเน้นที่ความสบายใจของลูกค้าแทน
แต่ถึงแผนผังแบบนี้จะดูง่าย แต่ความยากของมันอยู่ที่ การเน้นไปที่สินค้าและตำแหน่งการจัดวางมากกว่า ว่าจะทำยังไง.. ให้องค์ประกอบดูน่าสนใจ แต่ไม่ดูมั่วซั่ว
ลักษณะของแผนผังแบบ Free-Flow
- เคาน์เตอร์คิดเงิน จะอยู่ด้านซ้าย
- สินค้าที่มีความต้องการสูง จะจัดเป็นซุ้มอยู่ด้านขวา
- ที่เหลือก็กระจายสินค้าตามความเหมาะสมเลยค่ะ
ข้อดีของแผนผังแบบ Free-Flow
- เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก
- ปรับให้ผสมผสานกับแผนผังแบบอื่นได้ง่าย
- ทำให้ร้านดูสบายตา มีพื้นที่มากขึ้น
- โอกาสน้อยที่ลูกค้าจะเดินชนกัน
- มีแนวโน้มที่จะสร้างประสบการณ์ในการช้อปที่ดีให้ลูกค้า
- เหมาะกับร้านระดับไฮเอนด์ ที่มีจัดสินค้าน้อย แต่เน้นความสวยงาม
ส่วนข้อด้อย ก็จะเป็น การมีพื้นที่ให้สินค้าน้อย อาจสร้างความสับสน ให้ลูกค้าที่ไม่รู้จะเดินไปตรงไหนก่อนดี และทำให้ลูกค้าเดินออกจากร้านไปได้ง่าย
ฉะนั้น ถ้าต้องการที่จะใช้แผนผังชั้นวางแบบนี้ ร้านของคุณก็ควรจะเป็นร้านที่เน้นความสร้างสรรค์ และเน้นโชว์ความสวยงามของสินค้า เช่น
- ร้านเสื้อผ้าหรู ๆ
- ร้านรองเท้า
- ร้านกระเป๋า
✎ตัวอย่างร้านค้าปลีกระดับโลกที่ใช้แผนผังนี้
- Nike
ภาพจาก news.nike
- Zara
ภาพจาก retailnews
5. แผนผังร้านแบบผสมผสาน
คุณไม่จำเป็นต้องใช้แผนผังแค่แบบเดียวในร้านของคุณก็ได้นะคะ เพราะมันสามารถปรับเปลี่ยนและนำมาผสมผสานกัน เพื่อให้เหมาะสมกับร้านของคุณที่สุดได้ด้วย
ซึ่งก็อยู่ที่ว่าคุณจะ ออกแบบร้านค้า ของคุณให้ออกมาเป็นยังไง และต้องการนำเสนออะไรให้กับลูกค้าของคุณ
คุณก็จะเห็นได้ชัดในห้างสรรพสินค้าหลาย ๆ ห้าง ที่จะเน้นการผสมผสานอยู่หลายร้านเลยทีเดียว
✎ ตัวอย่างร้านค้าปลีกแบรนด์ระดับโลก Louis Vuitton จะสังเกตได้ว่าร้านนี้จะเน้นผสนมผสานระหว่าง แผนผังร้านแบบ Free-Flow เข้ากับ แผนผังแบบ Loop เพื่อให้อิสระแก่ลูกค้า พร้อมกับให้ลูกค้าได้มีประสบการณ์ที่ดีด้วยการดื่มด่ำกับบรรกาศความ Hi-Fashion ของร้านนั่นเอง
ภาพตัวอย่างช็อป Louis Vuitton by dezeen
✎ Special Talk แต่ถ้าหากคุณต้องการเปิดร้าน ชั้นวางสินค้า PN มีบริการผลิตชั้นวางสินค้าสำหรับร้านค้าปลีก และเรายังมีบริการออกแบบร้านค้าปลีกเพื่อวางแปลนชั้นวางสินค้าและอุปกรณ์ร้านค้าต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ของคุณได้
ซึ่งเรามีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่วาดภาพแปลนชั้นวางสินค้าต่าง ๆ และภาพร้านค้าปลีกแบบ 3D ให้ทุกคนเห็นภาพร้านค้าก่อนที่จะเปิดร้านจริง ลองชมตัวอย่างภาพ 3D ที่ทางเราออกได้ที่ด้านล่างนะ
ดูเพิ่มเติมได้ที่ : ผลงานการวางแปลนชั้นวางสินค้า 3D
✔ สรุป
เมื่อคุณเปิดร้านค้า และต้องการที่จะเลือกแผนผังร้านค้าไปใช้กับร้านของคุณ ก็ให้ดูว่า
- สินค้าของคุณคืออะไร?
- ต้องการให้ลูกค้าเดินไปในทิศทางไหน?
- พฤติกรรมของนักช้อปในร้านของคุณ มีแนวโน้มจะเป็นยังไง?
หากคุณเป็นร้านค้าที่มีสินค้าจำนวนมาก ให้พิจารณา แผนผังร้านค้าแบบ Grid แต่ถ้าคุณต้องการให้เป็นร้านที่ผู้ซื้อใช้เวลาในการเลือก และอยู่ในร้านนานๆ ก็ลองพิจารณาผสมผสานกันระหว่างแบบ Loop และ Free-Flow
ส่วนถ้าจะเลือกแบบ Herringbone ก็ต้องพิจารณาพื้นที่และความกว้าง ความยาว ของร้านค้า
แล้วผังร้านค้าแบบไหนล่ะ? ที่เหมาะสมกับร้านของคุณ ยังไงก็ลองเลือกไปใช้ในการเปิดร้านของคุณดูนะคะ และอย่าลืมติดตามบทความต่อๆไปของ PN Storetailer กันด้วยนะคะ 🙂
ขอบคุณแหล่งที่มาเพิ่มเติมจาก :
- The Ultimate Guide to Retail Store Layouts by shopify