✎ เขียนและ Published เมื่อ 16/9/2020 (อัพเดตล่าสุดตามที่ขึ้นใต้หัวข้อ)
การออกแบบร้านค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกแบบใดก็ตาม คุณจะต้องมีทั้งความคิดสร้างสรรค์และความคิดด้านการวางแผนไปพร้อม ๆ กัน
แน่นอนว่าถ้าร้านค้าของเรามีความสะอาด สะดวกสบาย และมีการตกแต่งที่สวยงามน่ามอง ย่อมส่งผลให้คนที่ผ่านไปมาแถวนั้น อยากที่จะเดินเข้าไปเลือกชมสินค้า
PN Storetailer จะมาบอกต่อ เคล็ดลับการจัดร้านค้าปลีก แม้ว่าคุณจะเป็นร้านขายของชำ ร้านขายอาหารสัตว์ ร้านวัสดุก่อสร้าง หรือร้านเสื้อผ้า ฯลฯ แต่คุณสามารถเข้ามาศึกษาไกด์เล็ก ๆ น้อย ๆ จากเราที่จะทำให้ลูกค้าอยากเดินเข้ามาในร้าน ไปดูกันเลยค่ะ Let’s go! 🤘
9 Tips ออกแบบร้านค้าปลีก
Info 9 Tips ออกแบบร้านค้าปลีก
ออกแบบแผนผังหรือแปลนร้านค้า by PN
แผนผังร้านค้าหรือแปลนร้านค้า มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ในเรื่องการจัดวางสินค้า การจัดเก็บสินค้า รวมถึงพฤติกรรมที่ลูกค้าเดินเข้ามาเลือกดูสินค้า ก่อนจะเริ่มเปิดร้าน คุณจึงควรออกแบบแผนผังร้านค้าก่อน
ซึ่งหากจะเลือกสิ่งที่เหมาะให้กับคุณในการออกแบบร้านค้าปลีกจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ประเภทร้านค้า, ขนาดร้านค้า, สินค้าที่คุณขาย และที่สำคัญกว่านั้นคือ กลุ่มเป้าหมายของคุณว่าพวกเขามีความสนใจแบบใดค่ะ
- ลูกค้าของคุณชอบอะไร?
- พวกเขาใช้เวลาในการเลือกชมสินค้านาน ๆ ได้หรือไม่?
- พวกเขาชอบที่จะการบริการตนเองหรือชอบให้พนักงานแนะนำพวกเขาทั่วทั้งร้าน?
- ลูกค้าต้องการค้นหาเฉพาะสิ่งที่สนใจหรือต้องการเดินช้อปไปเรื่อย ๆ เพลิน ๆ อยากซื้ออะไรค่อยซื้อระหว่างทาง?
นี่เป็นเพียงคำถามบางส่วนที่คุณต้องถามกับตัวเองเมื่อตัดสินใจเลือกแผนผังชั้นวาง รวมถึงการวางตำแหน่งของชั้นวางในร้าน ว่าจะวางตรงไหนถึงจะทำให้ร้านดูน่าเดิน วางแบบใดสินค้าจึงจะน่าสนใจตามรูปแบบร้านค้าของคุณ
ลองอ่านเรื่อง แผนผังร้านค้า ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ ว่าร้านค้าประเภทใด เหมาะกับแผนผังร้านค้าแบบใด ก่อนตัดสินใจวางแผนผังร้านค้าได้เลยค่ะ
สรุป Tip 1 ✦ ออกแบบแผนผังร้านค้า ให้เลือกตามประเภทร้านค้า, ขนาดร้านค้า, สินค้าที่คุณขาย และที่สำคัญกว่านั้นคือ กลุ่มเป้าหมายของคุณ
มีการถกเถียงกันเล็กน้อยว่า ร้านค้าปลีกควรออกแบบจัดวางนำทางลูกค้าให้เดินในรูปแบบ ตามเข็มนาฬิกา หรือ ทวนเข็มนาฬิกา กันแน่? ซึ่งในแง่หนึ่งบางคนอ้างว่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ถนัดขวา พวกเขาจึงหันไปทางขวาโดยสัญชาตญาณ และเริ่มเดินสำรวจร้านในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา
โดยที่ Herb Sorensen ผู้เขียน Inside the Mind of the Shopper ระบุว่า “ทิศทางของนักช้อปในซูเปอร์มาเก็ตมีส่วนเกี่ยวข้องกับรูปแบบการขับขี่รถยนต์บนท้องถนน
ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ตำแหน่งการขับรถจะอยู่ทางด้านซ้ายของถนน ฉะนั้นพวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะเริ่มเดินสำรวจร้านค้าในลักษณะตามเข็มนาฬิกา
ในขณะที่ผู้บริโภคจากประเทศที่มีตำแหน่งขับรถด้านขวา เช่น สหรัฐอเมริกา มักจะเลี้ยวขวาเมื่อเข้าร้าน หรือแม้แต่ประเทศไทยของเราเองก็ยังเป็นรถยนต์แบบที่ขับด้านขวา (อ้างอิงจาก bookdepository ) ดังนั้นรูปแบบการเข้าชมในร้านค้า อาจได้รับอิทธิพลมาจากตำแหน่งการขับรถบนท้องถนน
Note ✎ : เราจึงขอแนะนำว่า หากคุณเปิดร้านอะไรก็ตามในประเทศไทย คุณควรที่จะจัดวางองค์ประกอบของร้าน ให้ดึงดูดสายตาจากด้านขวา และเลือกออกแบบร้านค้า ตกแต่งร้านให้มีความน่าสนใจที่สอดคล้องกันไปตามทางที่ลูกค้าเดิน ให้ลูกค้าสามารถมองสินค้าได้อย่างสบายตา เช่น การจัดซุ้มโปรโมชั่น สินค้าลดราคาไว้ที่ฝั่งขวา เพื่อจูงใจให้ลูกค้าอยากเดินไปที่ฝั่งนั้น ๆ ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามาในร้าน
PS. หรือถ้าคุณอยากนำทางลูกค้าไปที่ฝั่งซ้าย คุณก็สามารถนำซุ้มโปรโมชั่นและสินค้าลดราคาไปไว้ที่ฝั่งซ้ายก็ได้ค่ะ
สรุป Tip 2 ✦ จัดซุ้มโปรโมชั่นและสินค้าลดราคาไว้ที่ฝั่งขวา เพื่อจูงใจให้ลูกค้าให้เดินไปที่ฝั่งนั้น ๆ ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามาในร้าน (หรือจัดไว้ฝั่งซ้าย หากต้องการนำทางลูกค้าไปทางซ้าย)
การออกแบบชั้นวางสินค้า by PN
การออกแบบชั้นวางสินค้า ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง เมื่อคุณได้แปลนร้านค้าแล้วเรียบร้อย เพราะประเภทสินค้าไม่ได้มีแค่แบบเดียว ไม่ว่าจะเป็น
- ร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง ที่ต้องโชว์ประตู หน้าต่าง
- ร้านขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ที่ต้องโชว์สายไฟแบบม้วนให้สวยงาม
- ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร ที่ต้องโชว์เครื่องพ่นยา ซองเมล็ดพันธุ์พืช และอุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ ย่อมต้องใช้ชั้นวางสินค้าที่แตกต่างกันออกไป
- ร้านเพ็ทช็อป ที่ต้องใช้ชั้นแขวนสินค้าผสมกับชั้นวาง
ฉะนั้นการออกแบบชั้นวางสินค้าให้เหมาะกับประเภทร้านค้าปลีกของคุณ ก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะร้านใหญ่ ๆ ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิต จำเป็นจะต้องพิถีพิถันในการเลือก
อย่าง ชั้นวางสินค้า PN บริษัทที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ก็รับออกแบบ ผลิต และติดตั้งชั้นวางสินค้าให้เหมาะสมกับร้านค้า และยังสามารถเลือกแบบ เลือกขนาด เลือกสีที่ต้องการให้เข้ากับแบรนด์ รวมถึงรีเควสสเปกต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ร้านของคุณได้ด้วยค่ะ
สรุป Tip 3 ✦ ออกแบบชั้นวางสินค้า จะต้องให้ตอบโจทย์สินค้าแต่ประเภท เช่น ร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง ก็ต้องใช้ชั้นโชว์ประตู หน้าต่าง
ถ้าถามว่าวิธีการจัดร้านค้าควรจะจัดวางสินค้าบนชั้นวางสินค้า ให้มากหรือน้อย? ซึ่งคำตอบนี้จะไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่นัก.. มาดูตัวอย่างของร้านค้าปลีก 2 แบรนด์ดังที่จัดวางสินค้าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงใน Case Study นี้กันดูค่ะ คุณอาจจะรู้คำตอบว่าควรจัดเข้าไปเยอะหรือน้อย
เคสตัวอย่างแรกคือ Dollar General ร้านธุรกิจค้าปลีกสัญชาติอเมริกัน มีการออกแบบร้านค้าโดยจัดวางสินค้าให้ “มากและอัดแน่น” แถมยังเพิ่มความสูงของชั้นวางเป็น 78 นิ้ว ทำให้ยอดขายต่อตารางฟุตเพิ่มขึ้นจาก 165 เหรียญเป็น 201 เหรียญ
ในขณะเดียวกัน Walmart ร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก “ลดสินค้าคงคลัง” ทำให้ยอดขายก็ลดลงเรื่อย ๆ บริษัทจึงออกแบบร้านค้าใหม่เพื่อเพิ่มสต็อกกลับ
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือในขณะที่ยอดขายของ Walmart ลดลงในช่วงเวลานั้น ความพึงพอใจของลูกค้ากลับเพิ่มขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือลูกค้ามีความสุขมากขึ้น แต่พวกเขาไม่ได้ซื้อสินค้ามากนัก
William S. Simon ผู้บริหารระดับสูงของ Walmart ประจำแผนกในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “ลูกค้าชอบประสบการณ์” ในการมีสต็อกในพื้นที่ขายน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ซื้อน้อยลงด้วย แต่มันกลับเพิ่มการรับรู้แบรนด์มากขึ้น
การมียอดขายสินค้ามากเกินไปอาจทำให้การรับรู้แบรนด์ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณพยายามวางตำแหน่งร้านของตัวเองให้เป็นร้านค้าปลีกระดับ Hi-End
Dollar General
Walmart
Note ✎ : เราจึงขอแนะนำว่าจำนวนสต็อกที่จะจัดวางในร้าน จะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางการตลาดที่คุณต้องการนำเสนอลูกค้า และองค์ประกอบอื่น ๆ ของร้าน ไม่ว่าจะเป็น
- ขนาดร้านค้าของคุณ
- ภาพลักษณ์ที่คุณต้องการนำเสนอ
- ประสบการณ์ที่คุณต้องการสร้างภาพจำให้กับลูกค้า
- อื่น ๆ
หากคุณเป็นร้านค้าปลีกที่กำลังลดราคาและเน้นยอดขาย ที่ต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ร้านของคุณ การบรรจุสินค้าในร้านให้เยอะ ๆ สต็อกแน่น ๆ อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับคุณ
แต่ถ้าคุณเป็นร้านค้าปลีกระดับไฮเอนด์ คุณควรดูแลเรื่องการจัดวาง การตั้งโชว์สินค้าของคุณให้ดี และจัดแสดงรายการสินค้าที่คัดเลือกไว้มาอย่างดีเพียงไม่กี่รายการ เพื่อเพิ่มความรู้สึกแพงแต่มีคุณภาพให้ลูกค้าจำภาพแแบรนด์ของคุณนั่นเอง
สรุป Tip 4 ✦ การออกแบบปริมาณสินค้า จะต้องออกแบบตามกลยุทธ์ทางการตลาด ใส่เยอะ = เพิ่มยอดขาย / ใส่น้อย = เพิ่มการรับรู้แบรนด์
เป็นเรื่องปกติที่ชั้นวางของคุณจะเต็มไปด้วยสินค้า แต่ตราบใดที่คุณต้องการเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวให้กับลูกค้า คุณจะต้องหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ Butt-Brush effect หรือการที่เดิน ๆ ไปแล้วมีการชนกัน เสียดสีกัน ร้านแคบเกินไป หรือจัดวางของไม่ดีทำให้สินค้าไปกระแทกเสียดสีกับตัวของลูกค้า
ผลที่ตามมาคือ ลูกค้าโดนดึงความสนใจไปที่อื่น ลูกค้าเสียอารมณ์ จนกระทั่งเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าที่กำลังสนใจไปเลย
ฉะนั้นจึงควรจัดร้านค้าของคุณให้มีช่องว่างเพียงพอระหว่างสินค้ากับทางเดิน แนะนำว่าถ้ามีพื้นที่เพียงพอ ให้จัดระยะห่างประมาณ 4 ฟุต เพื่อให้ลูกค้าเดินช้อปปิ้งได้อย่างสบายใจ และการจะออกแบบช่องทางเดินนั้น ต้องทำร่วมกับการ ออกแบบวางแปลนชั้นวางสินค้า ถึงจะทำให้ร้านค้าสมบูรณ์แบบมากที่สุดค่ะ
สรุป Tip 5 ✦ ออกแบบช่องทางเดินในขนาดที่พอดี (แนะนำว่าประมาณ 4 ฟุต) เพื่อลดการเกิด Butt-Brush effect
ความถี่ในการเปลี่ยนหน้าร้านมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าประเภทร้านค้าของคุณเป็นแบบไหนและคุณกำลังสื่อสารกับใครอยู่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำว่า “ให้เปลี่ยนหน้าร้านสัปดาห์ละครั้ง”
คุณจึงควรจะเปลี่ยนหน้าร้านและอัพเดตให้เหมาะสมทุกครั้งที่มีสินค้าใหม่เข้ามา และพยายามปรับเปลี่ยนหน้าร้านตามเทศกาล ให้มีความแปลกใหม่ดึงดูดความสนใจผู้ที่เดินผ่านไปมาอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างเช่น
- ถ้าเป็นร้านฮาร์ดแวร์และวัสดุก่อสร้าง ควรมีป้ายแบรนด์ที่คุณขายไว้ที่หน้าร้าน
- ถ้าเป็นร้านเสื้อผ้า คุณควรเปลี่ยนชุดหุ่นของคุณเพื่อเพิ่มยอดขายแต่ละแบบให้แตกต่างกันในแต่ละสัปดาห์
- ถ้าคุณเปิดร้านเครื่องเขียน คุณควรจะติดป้ายโปรโมชั่นหน้าร้าน หรือสินค้ายอดฮิต 10 อับดับไว้เพื่อดึงดูดความสนใจให้กับลูกค้า
- หรือร้านค้าประเภทอื่น ๆ อาจจะเพิ่มหน้าจอ TV ไว้ที่หน้าร้าน เพื่อโชว์สินค้าและสิ่งที่น่าสนใจผ่านหน้าจอทีวี เป็นต้น
สรุป Tip 6 ✦ ออกแบบป้ายหน้าร้านให้สวยงาม ติดป้ายโปรโมชั่นดึงดูด เปลี่ยนหน้าร้านสัปดาห์ละครั้ง อัพเดตหน้าร้านให้ทุกครั้งที่มีสินค้าใหม่หรือมีเทศกาล
แม้ว่าการออกแบบสถานที่ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบภาพ แต่ปัจจัยอื่น ๆ เช่น กลิ่น สัมผัสเสียง และรสนิยม ก็สามารถส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์ของร้านได้เช่นกันค่ะ
หากคุณต้องการสร้างประสบการณ์ในร้านค้าอย่างแท้จริง ให้ออกแบบร้านค้าปลีกของคุณให้ดึงดูดความรู้สึกของนักช้อปให้ได้มากที่สุด โดยมันควรจะมีองค์ประกอบดังนี้
- เสียง ที่ไพเราะน่าฟัง ถ้าในร้านมีเพลงเพราะ ๆ เลือก playlist ของคุณอย่างชาญฉลาดให้เหมาะกับร้าน จะช่วยเพิ่มบรรยากาศให้น่าเดินเข้ามาเลือกซื้อของในร้านมากขึ้น คุณอาจจะเคยเห็นตัวอย่างมาแล้วในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ อย่าง BigC, Tesco Lotus ที่จะมีดีเจคอยเปิดเพลงให้ฟังตลอดการช้อปปิ้ง มีเสียงตามสายคอยประชาสัมพันธ์ หรือจะใช้ในการแนะนำสินค้าใหม่ ๆ โปรโมชั่นดี ๆ ให้ลูกค้าได้รับรู้
- กลิ่น ที่หอมและเหมาะกับร้าน ในข้อนี้ร้านอาหารหรือคาเฟ่อาจจะมีข้อได้เปรียบมากกว่าร้านอื่น ๆ แต่ใช่ว่าคุณเปิดร้านแบบอื่นจะใช้กลิ่นไม่ได้ คุณสามารถใช้น้ำหอมหรือหรือกลิ่นอื่น ๆ ที่เข้ากับร้านของคุณได้เช่นกัน
- การสัมผัส หรือทดลองใช้งานจริง เมื่อมีการลงมือทำ สร้างบรรยากาศให้ใช้งานสินค้าได้จริง จะทำให้ลูกค้าได้มีประสบการณ์ และกระตุ้นให้เขาได้เล่น ได้ทดลองจนเกิดความเคยชิน เช่น ร้านขายโทรศัพท์ ที่มีการจัดวางโทรศัพท์ตัวอย่างให้ลูกค้าได้ลองเล่น ซึ่งลูกค้าอาจจะไม่ซื้อในทันที แต่ถ้าได้มาสัมผัสบ่อย ๆ ในวันหนึ่งถ้าเขาตัดสินใจ เขาอาจจะกลับมาซื้อในอนาคตก็ได้
- การลิ้มรส ข้อนี้จะคล้ายกับการสัมผัส หากคุณเปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ คุณอาจจะต้องจัดบูธให้ลูกค้าได้ลองชิมก่อน เพื่อทดสอบว่าเขาจะชอบหรือไม่ หากลูกค้าชอบ ก็คงไม่ลังเลที่จะซื้อแน่นอน
สรุป Tip 7 ✦ สร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าด้วยการเพิ่ม เสียงเพลง, กลิ่นหอม ๆ, การได้สัมผัสทดลองใช้ และการได้ลิ้มรส เพื่อส่งเสริมบรรยากาศที่ดีให้กับร้านค้าของคุณน่า shopping มากขึ้น
-
จัดเรียงสินค้าให้เป็นหมวดหมู่
การจัดเรียงสินค้า ทำได้โดยการจัดเรียงให้เป็นหมวดหมู่เดียวกันอย่างชัดเจน และให้มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง, กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว และหากมีป้ายบอกโซนสินค้าด้วยก็จะดีมากเลยค่ะ
-
ใช้กลยุทธ์ Cross Selling ในบางจุด
แน่นอนว่าการจัดสินค้าให้เป็นหมวดหมู่และเป็นระเบียบเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่จะดีกว่าไหม? ถ้าคุณเพิ่มทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยออกแบบร้านค้าปลีกอย่างชาญฉลาดที่สามารถเพิ่มยอดขายได้โดยการนำสินค้าคนละประเภทที่เข้ากันได้ดี มาแทรกรวมกันอย่างแนบเนียน หรือที่เขาเรียกกลยุทธ์นี้กันว่า Cross Selling
ยกตัวอย่างเช่น ร้านมินิมาร์ทในปั๊มต่างจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มักจะมีซุ้มของครีมกันแดด, หมวก, รองเท้าแตะ, และแว่นตากันแดด จัดอยู่ใกล้ ๆ กัน แทนที่ร้านจะได้ขายครีมกันแดดแค่อย่างเดียว แต่การใช้วิธีนี้ ลูกค้าอาจจะหยิบทั้งครีมกันแดดและแว่นกันแดดก็ได้ วิธีนี้เป็นการเพิ่มยอดขายอย่างง่าย ซึ่งคุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสินค้าในร้านของคุณได้นะคะ
สรุป Tip 8 ✦ จัดเรียงสินค้าให้เป็นหมวดหมู่ เป็นระเบียบ มีป้ายบอกโซนสินค้า และเลือกใช้การ Cross Selling ในบางจุด
พนักงาน เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มีบทบาทและมีส่วนสำคัญมากต่อร้านค้า การออกแบบพนักงานในร้าน จึงมีผลต่อภาพลักษณ์ของร้านค้ามาก
-
ออกแบบชุดพนักงานให้ดูดี
พนักงานควรมีชุดยูนิฟอร์มที่ถูกออกแบบมาเพื่อใส่ในร้านของคุณโดยเฉพาะ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับร้านค้า หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่มีเทศกาล ก็ควรจะให้พนักงานแต่งตัวตามธีมของเทศกาลนั้น ๆ เช่น เทศกาลคริสต์มาส เทศกาลปีใหม่
-
สร้าง movement ให้พนักงาน
พนักงานมีส่วนในการสร้างบรรยากาศให้ร้านค้า การสร้างมูฟเม้นต์ให้พนักงานดูแอคทีฟ เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจค่ะ เพราะตำแหน่งที่พนักงานยืนหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้น สามารถเป็นได้ทั้งสร้างหรือทำลายความสนใจของคนที่มองเข้ามาได้
การที่มีพนักงานประจำอยู่เคาน์เตอร์ในตอนที่มีลูกค้ามาคิดเงินนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหากเมื่อไหร่ที่ร้านดูเงียบ/ว่างเกินไป พนักงานควรจะอยู่ที่เชลฟ์เพื่อจัดเรียงสินค้า, คอยแนะนำตอบคำถามหากลูกค้าต้องการ หรือจะให้พนักงานคอยทำความสะอาดเชลฟ์หรือเช็ดโต๊ะก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแอคทีฟอยู่ตลอดเวลา
เมื่อมีคนมองเข้าไปในร้าน พวกเขาจะถูกดึงดูดเสมอ หากเห็นความเคลื่อนไหวภายในร้านอยู่ตลอด ดังนั้นพยายามสร้างมูฟเม้นต์ เพื่อทำให้ร้านค้าไม่ดูเงียบจนเกินไปนะคะ เพราะถ้าเงียบเกินไปมันจะทำให้ร้านค้าของคุณดูน่าเบื่อได้
สรุป Tip 9 ✦ พนักงานควรมีชุดยูนิฟอร์มที่ถูกออกแบบมาเพื่อใส่ในร้านของคุณโดยเฉพาะ และควรสร้างมูฟเม้นต์ให้พนักงานดูแอคทีฟ เพื่อให้ร้านไม่ดูน่าเบื่อ
✎ สรุป 9 Tips ออกแบบร้านค้าปลีก
- ออกแบบแผนผังร้านค้า » เลือกตามประเภทร้านค้า
- ออกแบบนำทางลูกค้า » จัดโปรโมชั่นและสินค้าลดราคาไว้ฝั่งขวาหรือฝั่งที่ต้องการ
- ออกแบบชั้นวางสินค้า » ตอบโจทย์สินค้าแต่ประเภท
- ออกแบบปริมาณสินค้า » ใส่เยอะ = เพิ่มยอดขาย / ใส่น้อย = เพิ่มการรับรู้แบรนด์
- ออกแบบช่องทางเดิน » ขนาดที่พอดี ลดการเกิด Butt-Brush effect
- ออกแบบหน้าร้าน » สวยงามเข้ากับแบรนด์ ติดป้ายโปรโมชั่นดึงดูด
- ออกแบบประสบการณ์ » เสียง กลิ่น สัมผัส ลิ้มรส เข้ากับร้าน
- ออกแบบจัดวางสินค้า » จัดเรียงเป็นหมวดหมู่ และ Cross Selling บางจุด
- ออกแบบพนักงานในร้าน » ออกแบบชุดและ movement ให้พนักงาน
สุดท้ายนี้ อย่าลืมประเมินเสมอว่าคุณกำลังเลือกแผงผังชั้นวางสินค้า ที่ออกแบบและจัดเตรียมได้ถูกต้องเหมาะกับร้านของคุณหรือไม่ เพราะนี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้นออกแบบร้านค้า ซึ่งวิธีจัดร้านของคุณส่งผลโดยตรงต่อการเข้ามาเดินชมร้าน เวลาที่ลูกค้าอยู่ในร้าน และยอดขายของคุณ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณจึงควรลงทุนเวลาและทรัพยากรเพื่อให้แน่ใจว่าภาพลักษณ์ร้านค้าของคุณน่ามองและน่าเดินเข้ามาในร้านมากที่สุด
นอกจากนี้โปรดจำไว้เสมอว่าเมื่อพูดถึงการออกแบบร้านค้าปลีก การจัดเรียงสินค้าต่าง ๆ ในร้านค้า งานเหล่านี้ของคุณจะไม่มีวันเสร็จเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีตายตัว
ดังนั้นหมั่นค้นหาเทรนด์ใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ และมองหาวิธีที่จะพัฒนาออกแบบร้านค้าปลีกของคุณให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอนะคะทุกคน 😄
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก :
- Store Layout Design: 9 Tips for Arranging Your Retail Shop by vendhq.com
- Inside the Mind of the Shopper : The Science of Retailing by bookdepository