📌 เขียนเมื่อ 17-9-2020 | อัปเดตล่าสุดตามที่ขึ้นใต้หัวข้อ
การสร้างแบรนด์ (Branding) คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเริ่มต้นธุรกิจ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการสร้างบุคลิก สร้างจุดยืน สร้างความเป็นตัวตน และสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครให้กับธุรกิจของคุณ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของคุณแตกต่างจากคู่แข่งและดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้
ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับจาก Pn Storetailer ในการสร้างแบรนด์ตัวเองให้แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจใหม่ของคุณ ตามมาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
INFO – 6 ทริค การสร้างแบรนด์ (Branding)
1. กำหนดคุณค่าและจุดมุ่งหมายของแบรนด์
ขั้นตอนเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์ คือต้องกำหนดธุรกิจของคุณให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยการลองนึกถึงสิ่งที่แบรนด์ของคุณอยากนำเสนอ และวิเคราะห์ให้เข้าใจก่อนว่าธุรกิจที่คุณทำนั้นมีจุดมุ่งหมายอย่างไร
- สินค้าหรือบริการที่คุณขายคืออะไร?
- ข้อดี-ข้อเสียของสินค้าคืออะไร?
- จุดแข็งหรือความแตกต่างของแบรนด์เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
- คุณค่าตัวแบรนด์สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร?
- กลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นแบบไหน เชื่อมโยงกับใครได้บ้าง?
- บุคลิกภาพแบบใด? ที่คุณอยากจะให้แบรนด์เป็น
การกำหนดสิ่งนี้แล้วลิสต์ลงไปเป็นข้อไว้คร่าว ๆ จะช่วยให้คุณพัฒนาต่อยอดภาพลักษณ์และโทนของแบรนด์ที่ชัดเจนขึ้นได้
ตัวอย่างเช่น
- แบรนด์ขายครีม
- ข้อดี : เห็นผลไว จุดด้อย : ราคาแพง
- จุดแข็งที่แตกต่าง : มีบริการที่ดี ส่งไว แพ็คเก็จจิ้งพรีเมียม
- คุณค่าตัวแบรนด์ : สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความสวยงามของผู้คน
- กลุ่มเป้าหมาย : ใช้ได้ทุกเพศ อายุ 18-30 ปี
- บุคลิกภาพ : สวยหรูดูแพง ไฮคลาส แต่เข้าถึงง่าย
2. ศึกษากลุ่มเป้าหมาย
การรู้จักกลุ่มเป้าหมายของคุณจึงเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาแบรนด์ให้ดึงดูดพวกเขา ศึกษาสิ่งที่พวกเขาขาด (needs) ความต้องการ (wants) และความชอบของพวกเขา (preferences) และใช้ข้อมูลนี้เพื่อสร้างแบรนด์ที่สื่อถึงพวกเขาโดยตรง รวมถึงการกำหนดเพศ, ช่วงอายุ, ที่อยู่อาศัย, ไลฟ์สไตล์ เพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาให้ตรงกับสินค้าของเราได้
ตัวอย่างเช่น
- การสร้างแบรนด์ชานมไข่มุกออร์แกนิก
- ความชอบ : ชานมไข่มุก
- สิ่งที่ลูกค้าต้องการ : อยากกินชานมไข่มุก
- สิ่งที่ขาด : ชานุมไข่มุกที่กินแล้วไม่อ้วน
- เพศ : ได้ทุกเพศที่อยากกินชานมไข่มุกโดยไม่กลัวอ้วน
- วัย : 12-40 ปี
คุณจะต้องหากลุ่มเป้าหมายที่ใช่ ด้วยการกำหนดว่าแบรนด์ของเรา สามารถเชื่อมโยงกับใครได้บ้าง และแบรนด์ของเราตอบโจทย์ในสิ่งที่พวกเขาขาด สิ่งที่พวกเขาต้องการ หรือความชอบได้อย่างไร
🔖 อ่านบทความเพิ่มเติม :
3. กำหนดบุคลิกภาพของแบรนด์
เมื่อได้จุดมุ่งหมายของแบรนด์แล้วว่าจะทำเพื่อเป้าหมายอะไร รวมถึงรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายมีลักษณะอย่างไรแล้ว ต่อไปให้คิดว่าแบรนด์ของคุณเป็น “บุคคล”
เราทุกคนเป็นบุคคลที่มีลักษณะนิสัยแตกต่างกัน ประกอบไปด้วยความเชื่อ ค่านิยม และความชอบส่วนบุคคล ที่จะกำหนดว่าเราเป็นใครและเชื่อมโยงกับใคร โดยบุคลิกภาพจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเราในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งการแต่งตัว สิ่งที่เราพูด สถานที่ที่เราไป รวมถึงการใช้ชีวิตในสังคม
“บุคคล” ที่เดินอยู่ตามท้องถนน หากไม่มีเอกลักษณ์อะไรที่เป็นของตัวเองเลยนั้นมักจะไม่ดึงดูดสายตา แต่ถ้าเป็นบางคนที่มีเอกลักษณ์บางอย่าง Shine ออกมา เขาจะดึงดูดสายตาให้ผู้คนมองได้โดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นว่าจะต้องแต่งตัวให้เยอะหรือทำสีผมให้เด่น แต่มันหมายถึงความเป็นตัวของเขาที่มันลงตัวและน่าดึงดูดใจ
เฉกเช่นเดียวกับการสร้างแบรนด์ ที่คุณต้องหาเอกลักษณ์ของแบรนด์ตัวเองจากบางอย่างในแบรนด์ที่ผู้คนมองหรือสัมผัสเข้ามาแล้วรู้สึกชอบ หาสิ่งที่มันเชื่อมโยงความรู้สึกพวกเขาแล้วนำมาพัฒนาเป็นตัวตนของแบรนด์ จากนั้นกำหนดบุคลิกแบรนด์ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างบุคลิกแบรนด์ก็อย่างเช่น หรูหรา, ฉลาด, ทนทาน, แข็งแกร่ง, ทางการ, เป็นมิตร, มั่นใจ, ล้ำสมัย เป็นต้น
ในกำหนดบุคลิกภาพของแบรนด์ ให้ลองนำไอเดียจากการที่ “เมื่อผู้คนตกหลุมรักกัน” มาใช้
เวลาคนตกหลุมรักนั้นมักจะใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง เช่นเดียวกับการที่ลูกค้าตกหลุมรักแบรนด์หนึ่งแบรนด์ เมื่อใดที่ลูกค้าเชื่อมต่อกับแบรนด์ของคุณด้วยอารมณ์ จากการที่พวกเขามีค่านิยมและความเชื่อเดียวกันกับแบรนด์ จะนำไปสู่ยอดขายที่สูงขึ้นและสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ได้ โดยบุคลิกภาพของแบรนด์ต้องสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย และจุดมุ่งหมายของแบรนด์ด้วยนะ
4. เลือกสีแบรนด์ ชื่อแบรนด์ และโลโก้ที่ไม่ซ้ำใคร
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการสร้างแบรนด์ตัวเอง นั่นก็คือ สีแบรนด์ ชื่อแบรนด์ โลโก้ของแบรนด์ควรเป็นที่จดจำ ออกเสียงง่าย และดึงดูดสายตา นอกจากนี้ยังควรมีเอกลักษณ์เพียงพอที่จะโดดเด่นจากคู่แข่ง โดยโลโก้สามารถเป็นได้ทั้งรูปภาพ ตัวหนังสือ หรือรูปวาด หรือไม่ก็นำชื่อแบรนด์มาทำโลโก้เพื่อให้คนจะได้ง่ายที่สุดก็ได้
อาจจะเริ่มต้นจากการสังเกตโลโก้แบรนด์ใหญ่ ๆ ที่เราจำได้ ตัวอย่างเช่น
สีที่โดดเด่น
- แบรนด์น้ำอัดลมอย่าง โค้ก ที่ใช้สีแดง, เป๊บซี่ ที่เน้นใช้สีน้ำเงิน
- เครือข่ายมือถืออย่าง True ที่คนมักเรียกว่าค่ายสีแดง, Ais ที่คนมักเรียกว่าค่ายสีเขียว
- ธนาคาร ที่ควรส่วนใหญ่เรียกกันว่า ธนาคารสีเขียว สีม่วง สีส้ม สีชมพู ก็รู้แล้วว่าเป็นธนาคารอะไร
ชื่อแบรนด์ที่โดดเด่น
- 7-11 เพียงแค่เลขสองตัวนี้ขึ้นมา เราก็จำได้แล้วว่ามันคือแบรนด์อะไร
- BigC ชื่อที่มีความหมายว่าตัวซีตัวใหญ่แบบนี้ ก็คงมีอยู่เจ้าเดียวที่เรานึกถึงได้
- เถ้าแก่น้อย พูดปุ๊บรู้ปั๊บว่าคือแบรนด์สาหร่าย
โลโก้ที่โดดเด่น
- Nike เมื่อนำไปว่าตรงไหนเราก็รู้ได้เลยว่านี่คือไนกี้
- Apple เมื่อเราเห็นแอปเปิ้ลแหว่ง เราจะนึกถึง iPhone, iPad และสินค้าของ Apple ทันที
- โก๋แก่ เมื่อเราเห็นรูปผู้ชายใส่แว่นผมชี้ ๆ เราก็จำได้ว่านี่คือขนมโก๋แก่
นำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้กับแบรนด์ของคุณ โดยอาจจะเริ่มจากกำหนดสีจากสีที่คุณชอบ, ไปหาไอเดียการทำโลโก้จาก Pinterest หรือ Canva รวมถึงคิดชื่อแบรนด์ที่มีความเชื่อมโยงกับสินค้าให้จำได้ง่าย ที่สำคัญคือต้องไม่ซ้ำใครด้วยนะ
5. กำหนดภาพลักษณ์แบรนด์ให้สอดคล้องกัน
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ สี แบบอักษร และองค์ประกอบการออกแบบอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ควรสอดคล้องกันในทุกสื่อช่องทางการตลาดทุกแพลตฟอร์ม ทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ป้ายหน้าร้าน นามบัตร ป้ายโฆษณา แพคเกจจิ้ง ชุดยูนิฟอร์ม รวมถึงสถานที่หน้าร้านหรือสำนักงานก็จะต้องถูกออกแบบตกแต่งให้เข้ากับบุคลิกภาพของแบรนด์ที่คุณกำหนดไว้ เพื่อสร้างภาพจำให้กับผู้คนที่เข้าให้แบรนด์ของคุณในทุกช่องทาง เมื่อผู้คนเห็นสีสัน โลโก้ ฟ้อนต์ต่าง ๆ ผ่านตาไม่ว่าจะช่องทางใด พวกเขาจะจำแบรนด์ของคุณได้อย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต อย่าง Lotus’s ที่ตอนนี้กำลังสร้างภาพจำด้วยการรีแบรนด์ใหม่ หลังจากที่ CP Group ซื้อโลตัสกลับมาเป็นของตัวเองได้สำเร็จ
จากตอนแรกที่เป็น Tesco Lotus และใช้สีเขียวเข้ม+สีขาว+ฟ้อนต์สีแดง ตอนนี้ก็เปลี่ยนใหม่เป็น สีเขียวมิ้นท์+สีเหลือง ทั้งป้ายหน้าร้าน, ชุดพนักงาน, เว็บไซต์, ป้ายโฆษณาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนจดจำ Lotus’s ในแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
6. กำหนดสโลแกนของแบรนด์
เมื่อเราได้เสพโฆษณาผ่านทางสื่อต่าง ๆ ไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง เราจะจำสโลแกนของแบรนด์นั้นได้โดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสโลแกนที่จำง่าย คุ้นหู และสะดุดตา การสร้างแบรนด์ขึ้นมา เมื่อเรากำหนดสโลแกนที่เข้ากับบุคลิกภาพของแบรนด์ได้ จะยิ่งทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่จดจำได้ง่ายมากขึ้น
ตัวอย่างสโลแกนที่โดดเด่นและเป็นที่น่าจดจำ
- ดุดัน ไม่เกรงใจใคร Ford Ranger Raptor
- คิดจะพัก คิดถึง Kitkat
- เบอร์ดี้ หนึ่งในใจคุณ
- ทุกหยดซ่า โซดาสิงห์
- สวนสยาม ทะเลกรุงเทพฯ
- “I’m lovin’ it” McDonald’s
✔ สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ที่เรานำมาฝาก หากสรุปเนื้อหาทั้งหมดที่เราได้เขียนมา ก็จะมีดังนี้
- กำหนดคุณค่าและจุดมุ่งหมายของแบรนด์ – นึกถึงสิ่งที่แบรนด์ของคุณอยากนำเสนอ และวิเคราะห์ให้เข้าใจก่อนว่าธุรกิจที่คุณทำนั้นมีจุดมุ่งหมายอย่างไร
- ศึกษากลุ่มเป้าหมาย – กำหนดว่าแบรนด์ของเราสามารถเชื่อมโยงกับใครได้บ้าง ตอบโจทย์ในสิ่งที่พวกเขาขาด สิ่งที่พวกเขาต้องการ และความชอบด้วยแบรนด์ของเรา
- กำหนดบุคลิกภาพของแบรนด์ – หาเอกลักษณ์ของแบรนด์ตัวเองจากบางอย่างในแบรนด์ที่ผู้คนมองหรือสัมผัสเข้ามาแล้วรู้สึกชอบ หาสิ่งที่มันเชื่อมโยงความรู้สึกกลุ่มเป้าหมาย แล้วกำหนดว่าบุคลิกภาพของแบรนด์เราจะเป็นแบบไหน เช่น หรูหรา, ฉลาด, ทนทาน, เป็นมิตร, มั่นใจ
- เลือกสีแบรนด์ ชื่อแบรนด์ และโลโก้ที่ไม่ซ้ำใคร – สีแบรนด์ ชื่อแบรนด์ และโลโก้ของคุณควรเป็นที่จดจำ ออกเสียงง่าย ดึงดูดสายตา และเป็นเอกลักษณ์
- กำหนดภาพลักษณ์แบรนด์ให้สอดคล้องกัน – สี โลโก้ แบบอักษร และการออกแบบอื่น ๆ ควรสอดคล้องกันในทุกแพลตฟอร์ม เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ป้ายหน้าร้าน ป้ายโฆษณา แพคเกจจิ้ง
- กำหนดสโลแกนของแบรนด์ – กำหนดสโลแกนที่เข้ากับบุคลิกภาพของแบรนด์ ให้จำง่าย คุ้นหู สะดุดตา
ยังมีเคล็ดลับอีกมากมายในการสร้างแบรนด์ อย่าลืมหาข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อเตรียมพร้อมให้ดีน้าา ส่งท้ายคือ คุณต้องนึกถึงคำว่า “แบรนด์” เสมอเมื่อสื่อสารกับลูกค้า ถ้ายอดขายยังไม่ได้ตามเป้าหมาย อยากให้คุณอย่าพึ่งเสียกำลังใจ ให้พยายามทำการตลาดให้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การตลาดออนไลน์ ควรศึกษาและรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม นอกจากนี้ควรจะรู้จักใช้โปรโมชั่นในบางโอกาสด้วย ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้สำหรับคนที่กำลังเริ่มสร้างแบรนด์ตัวเองนะคะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก :
- Ten ways to build a brand for your small business by marketingdonut
- The Ultimate Guide to Branding in 2023 by blog.hubspot