ทำไม Walmart ถึงเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก?

หน้าปกบทความ Walmart คือ

Walmart เป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกำไรสุทธิ 14,881 ล้านเหรียญ ในปี 2020 เติบโตสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับวิกฤต Covid-19” 

อะไรกันนะ? ที่ทำให้ Walmart เติบโตได้ถึงขนาดนี้ พวกเขาใช้กลยุทธ์อะไรในการดำเนินธุรกิจ จนมันสามารถประสบความสำเร็จ

วันนี้ PN Storetailer จะพาคุณไปรู้จักกับ Walmart ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้นำไปเป็น Case Study ให้ทุกคนได้นำแนวทางบางอย่างขององค์กรนี้ ไปใช้ในธุรกิจของคุณกันค่ะ 

Walmart คืออะไร?

Walmart คือ บริษัทที่ทำธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดย Sam Walton เมื่อปี ค.ศ. 1962 ซึ่งมีการเติบโตที่แข็งแกร่งมาก ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “จนกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

walmart ธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด

โดย Forbs นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจและการเงินในสหรัฐอเมริกา ก็ได้จัดอันดับเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกไว้ว่า “Walmart คืออันดับ 1” ส่วนอันดับต่อมาคือ Amazon และตามมาด้วย Alibaba (อ้างอ้างจาก : The World’s Largest Retailers 2020: Walmart, Amazon Increase Their Lead Ahead Of The Pack – May 13, 2020)

และยังได้รับการจัดอันดับ จากนิตยสาร Fortune ให้เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 7 ปีซ้อน ตั้งแต่ ค.ศ.2013-2019 อีกด้วย

วอลมาร์ท

Pic by  forbes

ปัจจุบัน Walmart มีมากกว่า 11,000 สาขา ใน 28 ประเทศทั่วโลก สาขาที่ใหญ่ที่สุดคือที่สหรัฐอเมริกา ต่อมาก็เป็นต่างประเทศ รวมถึงมี Sam’s Club ที่เป็นคลับของคลังสินค้าที่ดำเนินงานใน 44 รัฐในอเมริกาและเปอร์โตริโก้

ธุรกิจค้าปลีกของ Walmart มีจุดเด่นตรงที่

  • การเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
  • ให้บริการ Wifi ฟรี
  • และขายทั้งของกิน ของใช้
  • รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ 

โดยเสาหลักของธุรกิจค้าปลีก Walmart จะยึดกับคำที่ว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า”

ดังนั้นการวางรากฐานต่าง ๆ การจัดการดำเนินงาน และเรื่องราคา จึงทำทุกอย่างเพื่อเป็นประโยชน์ต่อลูกค้ามากที่สุด  

รายได้ของ Walmart 2017-2020

ธุรกิจค้าปลีกของ Walmart ‘มีรายได้มากถึงหลักแสนล้านเหรียญสหรัฐ’ หรือถ้าเทียบเป็นเงินไทยก็อยู่ที่หลักล้านล้านบาท (OMG…!!)

เราขอนำกราฟมาให้ทุกคนได้ดูกันค่ะ ว่าในแต่ละปีรายได้และกำไรของ Walmart อยู่ที่เท่าไหร่ 

รายได้ของวอลมาร์ท ปี 2017-2020

รายได้ของ Walmart ในปี 2017 – 2020  (ภาพจาก notesmatic )

จากกราฟด้านบนแสดงให้เห็นว่า

ปี 2017 รายได้ 485,873 ล้านเหรียญ มีกำไรสุทธิ 1.47 หมื่นล้านเหรียญ

ปี 2018 รายได้ 500,343 ล้านเหรียญ มีกำไรสุทธิ 9.86 พันล้านเหรียญ

ปี 2019 รายได้ 514,405 ล้านเหรียญ มีกำไรสุทธิ 6.67 พันล้านเหรียญ

ปี 2020 รายได้ 523,964 ล้านเหรียญ มีกำไรสุทธิ 1.48 หมื่นล้านเหรียญ

(อ้างอิงจาก moneybuffalo ) 

กราฟข้างบนเป็นกำไรสุทธิของ Walmart จะเห็นได้ว่า “ในปี 2020 มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา” โดยมีกำไรมากกว่า ซึ่งมันสวนทางกับเศรษฐกิจในยุคโควิด 19 เอาซะมาก ๆ

เราไปดูข้อต่อไปกันค่ะ ว่าเขามีกลยุทธ์อะไรที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกของเขาเติบโตได้ขนาดนี้ 

กลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจ

กลยุทธ์ที่ช่วยให้ Walmart เติบโตที่เร็วขึ้น คือการดำเนินงาน ตามกลยุทธ์การค้าปลีกแบบ Omni-channel ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเจาะตลาดได้ลึกขึ้น ทั้งในสหรัฐฯและตลาดต่างประเทศ 

สมาร์ทโฟน walmart

Pic by borndigital

แต่เราขอขยายความก่อน สำหรับคนที่สงสัยว่า Omni-Channel มันคืออะไรนะคะ

“กลยุทธ์แบบ Omni-Channel”  ก็คือ ช่องทางการสื่อสารและบริการลูกค้า ในแบบที่หลากหลาย โดยการเชื่อมโยงออฟไลน์และออนไลน์ให้เป็นหนึ่งเดียว หรือพูดง่าย ๆ ว่า “การขายสินค้าทั้งหน้าร้านและออนไลน์แบบเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด”

วิธีการนี้จะช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดเอาไว้ เพื่อทำให้การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งยังสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ในทุกช่องทางแบบเชื่อมต่อกัน

และต้องดูว่าลูกค้าสนใจซื้อสินค้าในช่องทางไหน ซึ่งปัจจุบันช่องทางการสื่อสารออนไลน์ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Website, Social Media, และ แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ส่วนช่องทางออฟไลน์ก็คือร้านค้าปลีกที่เราเห็นกันได้ทั่วไปนั่นเองค่ะ คุณสามารถอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ >> Omni-Channel กลยุทธ์ที่ Walmart นำมาใช้

Omni-Channel คือ

ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนก็คือ

สมมติว่าคุณต้องการซื้อสินค้าใน Walmart

→ แต่คุณเล่นคอมอยู่ที่บ้านจึงเลือกหยิบสินค้าใส่ตะกร้าผ่าน “เว็บไซต์”

→ และเมื่อคุณหยิบมือถือขึ้นมากดใน “แอปพลิเคชันของ Walmart” สินค้าที่คุณหยิบใส่ตะกร้าก็ยังอยู่ในแอปด้วย

→ เมื่อคุณจะกด “จ่ายเงิน” คุณใส่สามารถจ่ายผ่านบัตร ใส่รหัส OTP เสร็จสรรพได้ที่แอป

→  หากสินค้าจะมาส่งที่บ้าน แต่คุณเกิด “เปลี่ยนใจอยากไปรับเองที่ร้าน” คุณก็สามารถไปรับได้ โดยสินค้าที่หน้าร้านก็ยังมีในสต๊อกให้คุณอยู่

เรียกได้ว่าทุกอย่างมันง่ายมาก ไม่ว่าคุณจะอยู่ใน Online หรือออฟไลน์ก็สามารถซื้อสินค้าได้เหมือนปอกกล้วยเข้าปากเลยแหละ

แอพพลิเคชั่น walmart

Pic by producebusinessuk

ในส่วนของ Walmart ที่ค้นพบว่าลูกค้าในปัจจุบัน นิยมใช้ชีวิตในช่องทางออนไลน์มากขึ้น พวกเขาก็ไม่หยุดที่จะพัฒนา เพราะมีการสร้างแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยการสร้างเว็บไซต์ www.walmart.com  ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าสามารถช้อปปิ้งออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น 

เว็บไซต์ walmart

ภาพหน้าตาของเว็บ  walmart.com

และความเป็นผู้นำด้านราคาที่จับต้องได้ยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญของรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของ Walmart จุดสำคัญของบริษัทคือ “การช่วยให้ผู้คนทั่วโลกประหยัดเงินและมีชีวิตที่ดีขึ้น”

ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ธุรกิจค้าปลีกอย่าง Walmart ให้บริการลูกค้าเกือบ 265 ล้านรายผ่านร้านค้าปลีกมากกว่า 11,500 แห่ง อีกทั้งบริษัทยังพยายามทำให้รูปแบบธุรกิจแข็งแกร่งไปอีก โดยการลงทุนในบริษัทอื่น ๆ มากขึ้น

เช่น ซื้อกิจการ Jet.com , Flipkart บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของอินเดีย , Parcel บริษัทธุรกิจเดลิเวอรี่ 

อ่านบทความน่าสนใจอื่น ๆ : 

การพัฒนาด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ Walmart 

การริเริ่มด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ครั้งแรกของ Walmart (Walmart.com) เปิดตัวในปี 2000 ซึ่งถือว่าเปิดตัวมานานเหมือนกันนะคะ โดยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ได้ดำเนินการหลายขั้นตอนที่ชัดเจนกว่าเดิม ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดดิจิทัลมากขึ้น 

เว็บไซต์ jet.com

หน้าตาของเว็บ jet.com – ภาพจาก techsauce 

ในปี 2016 Walmart ได้เข้าซื้อกิจการ jet.com ที่เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่เติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐฯ ณ ตอนนั้น

โดย Jet ประกาศจุดยืนว่า “สินค้าราคาถูกกว่า Amazon” ซึ่งมันสอดคล้องกับวอลมาร์ท ที่ต้องการจะตีตลาดอีคอมเมิร์ซแข่งกับอเมซอนอยู่แล้ว จึงได้ทำการซื้อกิจการมาด้วยเงินมูลค่ากว่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ซึ่งปัจจุบัน Jet.com ได้กลายเป็น Walmart.com ไปแล้ว)

และยังได้เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ jd.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในประเทศจีน ทำให้มีการริเริ่ม e-Commerce ที่กว้างขวางมากกว่าเดิม

เว็บไซต์ jd.com

หน้าตาของเว็บ jd.com – ภาพจาก brandinside.asia

ในช่วงปีเดียวกันได้เข้าซื้อกิจการหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายขีดความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซและปรับปรุงการเข้าถึงผ่านออนไลน์ด้วย

walmart ซื้อกิจการ moosejaw

หลังจากเข้าซื้อกิจการ jet.com บริษัทยังได้ซื้อ Moosejaw และแบรนด์ดิจิทัลอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ธุรกิจค้าปลีก Walmart ยังได้สร้างศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีชื่อ Store No.8

walmart เปิด storeno8

ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเร่งนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซให้เติบโตได้มากกว่าเดิม เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อร่วมมือกับบรรดาสตาร์ทอัพ, นักลงทุน, ตลอดจนสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาต่อยอดกับธุรกิจค้าปลีก

ซึ่งหัวข้อที่ถูกพูดถึง ก็จะมี หุ่นยนต์, VR, AR, Machine Learning และ AI เป็นต้น 

Marc Lore

Marc Lore

Marc Lore ผู้ประกอบการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Walmart eCommerce US บอกว่า จุดแข็งของ Walmart คือ

“เครือข่ายร้านค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ ต่างจากผู้เล่นอีคอมเมิร์ซอีกรายที่ไม่มีหน้าร้าน ทำให้ Walmart เหนือกว่าในช่องทางจัดจำหน่ายแบบผสมผสาน หรือ Omni-channel” 

(อ้างอิง blognone  ) 

เว็บไซต์ walmart.com

หน้าตาของเว็บ walmart ปัจจุบัน – ภาพจาก walmart.com

เมื่อพัฒนาเว็บไซต์และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ให้มีศักยภาพได้แล้ว Walmart ก็ได้พัฒนาความคิดด้านอีคอมเมิร์ซ ด้วยการที่ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าออนไลน์ทาง walmart.com ซึ่งเว็บไซต์ “มีสินค้ามากกว่า 2 ล้านรายการให้ลูกค้าได้เลือกสรร”

waltmart ให้บริการทางออนไลน์

สำหรับคนที่ต้องการช้อปปิ้งทำได้โดยการเลือกสินค้าจากร้านค้าปลีกที่มีอยู่จริงของ Walmart ในสาขาที่ใกล้ที่สุดได้ และยังเพิ่มบริการจัดส่งฟรีให้ลูกค้าด้วยค่ะ

“ซึ่งล่าสุดมีข่าวว่า Walmart กำลังจับมือกับ Microsoft เพื่อที่ซื้อกิจการของแอปพลิเคชั่นวิดีโอสั้นจากประเทศจีน ที่กำลังมาแรงมาก ๆ ในตอนนี้นั้นก็คือ Tiktok” 

ติ๊กต็อก ไมโครซอฟท์ วอลมาร์ท

Pic by foxbusiness 

จะบอกว่ามันน่าสนใจมาก ๆ เพราะที่ผ่านมา Walmart ต้องการที่จะผลักดันบริการ Walmart+ เพื่อแข่งกับ Amazon Prime ของ Amazon ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า Walmart ต้องการใช้ TikTok เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริการของตัวเองก็ได้ค่ะ

หากความพยายามของ Walmart และ Microsoft ในการซื้อ TikTok ครั้งนี้สำเร็จ จะทำให้ทั้งสองบริษัท สามารถเข้าถึงฐานผู้ใช้งานนับ “พันล้านคน!!”

ซึ่งมีแนวโน้มจะมาเป็นลูกค้า และผู้ชมโฆษณาได้  ไม่แน่ก็อาจจะเปลี่ยน TikTok ให้กลายเป็นแฟลตฟอร์ม e-Commerce ในอนาคตได้ ( อ้างอิง brandinside  ) 

เรียกได้ว่า Walmart ต้องการพัฒนาทุกช่องทางเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด รวมพวกเขายังถึงต้องการแข่งขันกับ Amazon เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ให้ได้มากที่สุดนั่นเองค่ะ

✔ สรุป 

จะเห็นได้ว่าธุรกิจค้าปลีกอย่าง Walmart นอกจากจะขยายสาขาร้านค้าปลีกไปทั่วโลกจนเป็นอันดับหนึ่งได้แล้ว พวกเขาก็ไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับองค์กรของตัวเอง 

“แม้ว่ารายได้จะเยอะมากขึ้นเท่าไหน เขาก็ยิ่งต้องปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้นมากเท่านั้น” 

เพื่อไล่ตามคู่แข่งให้ทัน รวมถึงเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า Walmart หันมาลงทุนกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซเยอะมาก

นั่นก็เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เรียกได้ว่าต้องการตอบสนองลูกค้าทุกทางจริง ๆ ค่ะ “การตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด” นี่แหละค่ะคือเหตุผลว่า “ทำไม Walmart ถึงเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

นี่ก็เป็น Case Study ของธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่สามารถนำมาเป็นแนวคิดให้กับทุก ๆ คนที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจได้นำไปปรับใช้

หวังว่าจะได้ประโยชน์จากบทความนี้กันน้าาา ครั้งต่อไป PN Storetailer จะนำบทความดี ๆ เรื่องอะไรมาฝาก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ 

ขอบคุณแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ใส่ความเห็น