6 ทริคจัดโปรโมชั่นที่ ‘ไม่ต้องลดราคาแรงๆ’ ก็เรียกลูกค้าได้

หน้าปก 6 ทริคจัดโปรโมชั่นที่ ‘ไม่ต้องลดราคาแรงๆ’ ก็เรียกลูกค้าได้

เขียนไว้เมื่อวันที่ : 14-10-2020, อัปเดตล่าสุด ตามที่ขึ้นใต้หัวข้อ

การที่ร้านค้าปลีก โปรโมชั่นลดราคาแรง ๆ หรือโปรลดราคาสินค้าหนักมาก ได้รับความนิยม ในหมู่ผู้ค้าปลีกบางส่วนเหมือนกันนะคะ

เพราะมันเป็นวิธีที่เร่งความรู้สึกผู้บริโภคให้อยากซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น และยังเป็นช่องทางที่สานต่อไปให้ลูกค้าหน้าใหม่ได้มาทดลองซื้อสินค้าของคุณได้อีก แต่..ถ้ามองอีกแง่มุมหนึ่ง

“โปรโมชั่นลดราคาแรง ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย เปรียบเสมือนดาบสองคม ถ้าคุณจัดการได้ไม่ดีพอ” 

บทความนี้ PN Storetailer จึงจะมาแนะนำทริคสำหรับ การจัดโปรโมชั่นยังไงให้เรียกลูกค้าเข้าร้านและเพิ่มยอดขายได้ โดยที่ไม่ต้องลดราคาให้เวอร์ จนกระทบกับผลกำไร เรามาดูกันค่ะ ว่าต้องทำยังไงบ้าง 

ทำไมการจัดโปรโมชั่นลดราคาแรง ๆ ถึงไม่ควรทำ?

นอกจากการจัดโปรโมชั่นลดราคาที่มากเกินควร จะทำให้อัตรากำไรของคุณลดลงแล้ว  แทนที่คุณจะได้มอบโปรโมชั่นนี้ เพื่อเป็นรางวัลแก่ลูกค้าประจำ 

มันอาจกลับกลายเป็นว่า คุณทำเพื่อดึงดูดลูกค้าที่ไม่มีคุณภาพ อย่างพวกนักล่าโปรโมชั่นมาฉวยโอกาสนี้ ในการกอบโกยผลิตภัณฑ์ไปทีละเยอะ ๆ ซึ่งอาจทำให้สินค้าหมด จนไม่ถึงมือลูกค้าประจำแทน

นี่จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย สำหรับผู้ค้าปลีกอย่างคุณ ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ค่อยสู้ดีนัก เพราะลูกค้าเริ่มใส่ใจกับเรื่องราคามากขึ้น

บางครั้งการขายก็จำเป็นต้องทำส่วนลด เพื่อสร้างความฮือฮาที่ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องรอบคอบด้วย เพราะถ้าคุณไม่จัดการอย่างดี ผลที่ตามมาก็คือ กำไรน้อยลง “หรืออาจจะร้ายแรงถึงขั้นขาดทุน” เลยก็ได้ค่ะ

ฉะนั้นหากคุณต้องการที่จะจัดโปรโมชั่น คุณควรมีการวางแผนโปรโมชั่นอย่างดี ว่าควรทำในรูปแแบบไหนถึงจะดึงดูดลูกค้าได้ 

1. เปลี่ยนมาสื่อสารแบรนด์ให้เข้ากับสถานการณ์ 

หลังเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมาก เนื่องจากมีช่วงหนึ่งที่หลายๆคนทำงาน/เรียนที่บ้าน รวมถึงการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ทำให้ความต้องการบางอย่างของพวกเขาที่เคยมี เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ซึ่งหมายความว่า “ความต้องการของผู้บริโภคในเมื่อก่อนอาจแตกต่างจากความต้องการตอนนี้”

สำหรับผู้ค้าปลีกอย่างคุณ ถ้าต้องการส่งเสริมการขายทางออนไลน์มากขึ้น แทนที่จะโพสต์ขายของเพื่อหวังให้พวกเขามาซื้ออย่างเดียวมันอาจไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ ว่ามั้ยคะ?

ลองเปลี่ยนมาเป็น 

“การโพสต์ในสิ่งที่ไวต่อความรู้สึกของพวกเขา หรือสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องที่เขากำลังเผชิญอยู่ โดยมีจุดมุ่งหมายคือบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลต่างๆ หรือทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น” 

ซึ่งวิธีการนี้มันเหมือนเป็น การซื้อใจผู้บริโภคค่ะ

ลองคิดภาพ ถ้ามีคนมาขายของให้คุณโดยการยัดเยียดที่จะขายอย่างเดียว แต่ไม่เข้าใจความรู้สึกของคุณจริง ๆ ยังไงคุณก็คงจะไม่ซื้อ จริงไหมคะ? 

วิธีนี้ มันก็เป็นการกระตุ้นให้เจ้าของธุรกิจเอง ให้เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น และสร้างฐานลูกค้าที่ยั่งยืน ได้มากกว่าการไปลดราคาสินค้า เพื่อหวังการขายแค่ในระยะเวลาสั้น ๆ 

ยกตัวอย่างเป็น 7-11 ร้านสะดวกซื้อยอดนิยม’

7-11-โควิด19

Pic by IG @7.eleventhailand

เซเว่นอีเลฟเว่น ทำคอนเทนต์ “7 Tips ป้องกันไวรัส Covid-19” ขึ้นมา เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ให้นำไปปฏิบัติตามได้ ซึ่งก็เข้ากับสถานการณ์ตอนนั้นมาก ๆ

นับว่าเป็นการวางแผนโปรโมชั่น ที่ก่อให้เกิดทั้งการสร้างความรู้ ควบคู่ไปกับสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ได้อีกด้วยค่ะ 

อ่านเรื่องอื่นเพิ่มเติม :

2. ใช้จิตวิทยาในการกำหนดราคา

การนำจิตวิทยามาใช้ ในการกำหนดราคาสินค้า เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะไม่กระทบกับผลกำไรของคุณ โดยใช้วิธีการเล่นกับตัวเลขพร้อมกับจิตวิทยาที่ “สมองของคนส่วนใหญ่ เวลามองป้ายต่าง ๆ จะอ่านจากซ้ายไปขวา” ( อ้างอิงจาก blog.itopplus.com ) 

ฉะนั้น การกำหนดราคาสินค้าต่าง ๆ ในร้านค้าของคุณ ควรใช้ ป้ายราคา ในการกำหนดตัวเลขเพื่อใช้จิตวิทยากับลูกค้า

✎ Tip : สมมติว่าปกติราคาอยู่ที่ 30 บาท คนที่มองป้ายราคาก็จะกวาดสายตาไปที่เลข 3 ก่อนเป็นอันดับแรก พวกเขาก็จะคิดแล้วว่าราคามันอยู่ที่หลัก 3 ขึ้นไป แต่ถ้าคุณเปลี่ยนจากเลข 3 ไว้ข้างหน้าไปเป็นเลข 2 แทน

ป้ายราคา

Pic by smartsme.co.th

โดยกำหนดราคาไว้ที่ 29 บาท ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันราคาต่างกันแค่ “บาทเดียว” แต่ความรู้สึกเวลาคนมองไปที่ป้ายราคาก็จะคิดว่าราคามันอยู่ที่หลัก 2 มากกว่าอยู่ดี การใช้วิธีนี้จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นค่ะ 🙂

3. ปรับการใช้ส่วนลด

การจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอย่างการ “ลดราคา 50%!” อาจดึงดูดความสนใจจากผู้คนจำนวนมากได้ แต่มันอาจส่งผลไม่ดี ต่อการขายระยะยาวของคุณนะคะ เพราะลูกค้าที่เข้ามาอาจเป็นลูกค้าที่ไม่มีคุณภาพได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าประเภท ‘Deal-hunters’ หรือพวกนักล่าโปรโมชั่นที่ต้องการซื้อของลดราคาทีละเยอะ ๆ แล้วมาอวดประชันความคุ้มกัน

ลดราคา 50%

Pic by @belart84 pexels

ซึ่งมันอาจจะทำให้ลูกค้าประจำ ที่สนับสนุนร้านค้าของคุณจริง ๆ หรือลูกค้าที่มักจะมาซื้อของที่ร้านคุณตามปกติ ไม่ได้ประโยชน์จากโปรโมชั่นนั้น ๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น 

สิ่งที่ควรจะทำคือ “ใช้การขายแบบมีเงื่อนไขแทน” วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถนำเสนอส่วนลดที่น่าสนใจได้ดีแถมยังดึงดูดให้ลูกค้าใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อจะได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าเดิมอีกด้วย 

เช่น “โปรโมชั่นซื้อครบ 500 บาท ได้รับส่วนลด 20%” การใช้โปรโมชั่นแบบนี้จะช่วยให้ลูกค้าซื้อของให้ครบ 500 มากขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะได้รับส่วนลด 20% นั่นเอง 

ตัวอย่างที่สามารถทำให้เห็นภาพง่าย ๆ

โปรโมชั่นลดราคาของวัตสัน

Pic by watsons.co.th

Watson จะมีโปรโมชั่นเยอะมาก ๆ ภาพที่เรานำมาให้ชมกันก็คือเป็นการจัดโปรโมชั่นในแบบที่เราได้อธิบายในข้างต้นนั่นเองค่ะ

โดยวัตสันให้ลูกค้าช้อปครบ 300 บาทถึงจะได้ส่วนลด 50% ซึ่งการทำแบบนี้ จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ดี และยังคุ้มค่ากับลูกค้าที่ซื้อของกับวัตสันทีละเยอะ ๆ อีกด้วยค่าา 

4. มีนโยบายการคืนสินค้าที่ยืดหยุ่นมากขึ้น 

ไม่ว่าคุณจะขายที่หน้าร้านหรือออนไลน์ หากสินค้าของคุณดีแค่ไหน.. มันก็อาจจะมีบางชิ้นที่ชำรุดหรือไม่ได้มาตรฐานบ้าง นโยบายการคืนสินค้าที่ยืดหยุ่น จึงควรนำมาใช้เพื่อเป็นการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าของคุณได้ค่ะ 

ผลวิจัยจาก UPS Pulse of the Online Shopper™ องค์กรที่จัดทำขึ้นมาเพื่อสำรวจสถิติของนักช้อป  พบว่า 

“73% ของผู้ซื้อบอกว่าประสบการณ์การคืนสินค้าที่ร้านค้าปลีก จะส่งผลต่อความเป็นไปได้ที่จะซื้อสินค้าซ้ำอีก”

(อ้างอิงจาก pressroom.ups.com  )

ดังนั้นนอกเหนือจากการเพิ่มยอดขายในระยะสั้น ที่คุณเคยทำมา นโยบายแบบนี้มันช่วยให้ร้านค้าของคุณมีความยืดหยุ่นและส่งผลดีในระยะยาว

พร้อมทั้งยังสร้างความประทับใจ สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้ ซึ่งมันช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำได้ในอนาคตอีกด้วยนะคะ 

นี่เป็นตัวอย่างนโยบายของคืนสินค้าของ Central ที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ หากได้รับสินค้าผิด, สินค้าชำรุด หรือสินค้าไม่ตรงปก 

นโยบายการคืนสินค้าชอง Central

Pic by central.co.th

ซึ่งในการคืนสินค้าก็จะมีรายละเอียดหรือข้อแม้ต่าง ๆ ระบุไว้อย่างชัดเจน หากคุณเปิดร้านค้าปลีก การทำนโยบายนี้ขึ้นมาจะเป็นบริการหลังการขายให้กับลูกค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนคืนสินค้าต่าง ๆ ที่อาจเกิดความชำรุดได้ 

แต่คุณต้องกำหนดชัดเจนนะคะว่า มีข้อแม้ในการคืนอย่างไร? หรือสินค้าแบบไหนที่คืนได้หรือคืนไม่ได้ ‘เพื่อป้องกันการคืนสินค้าแบบตามใจฉัน’ ที่มันจะไม่ตรงกับเงื่อนไขที่ร้านของคุณกำหนดไว้ยังไงล่ะคะ  

5. เปลี่ยนจากส่วนลดเป็นอย่างอื่นที่มันรู้สึกพิเศษ 

บางครั้งการโปรโมชั่นลดราคาอาจไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์เสมอไป หากคุณลองเปลี่ยนจากการลดราคาเป็นอย่างอื่นที่ให้ความรู้สึก ‘พิเศษกว่า’ มันอาจจะเพิ่มมูลค่าให้สินค้าในร้านค้าปลีกของคุณมากขึ้นก็ได้ 

อย่างเช่น บริการจัดส่งฟรีถึงบ้าน ยิ่งช่วงที่ผ่านมาผู้คนไม่ค่อยอยากออกจากบ้านกัน ก็เลยเลือกที่จะช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่า การขนส่งจึงเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ถ้าคุณเพิ่มโปรโมชั่นนี้เข้าไปมันอาจจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้ได้ค่ะ 

ตัวอย่าง การจัดส่งฟรีหากซื้อครบ 499 ของ OfficeMate

ส่งฟรีของ officemate

Pic by  facebook/OfficeMate

ตัวอย่าง การจัดส่งฟรีหากซื้อครบ 499 ของ Jaymart

ส่งฟรีของ jaymart

Pic by  jaymartstore.com

6. ลองขายสินค้าแบบ Up-selling

Up-selling คือ การเพิ่มยอดขายที่แยบยลมาก ๆ เพราะมันเป็นการเน้นขายสินค้าหรือบริการที่มีราคาสูงกว่าอีกชิ้นในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งสินค้านั้นจะต้องมีความพิเศษกว่าสินค้าที่ลูกค้ากำลังตัดสินใจอยู่ ฉะนั้นหน้าที่ของผู้ขายคือ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า 

“การเพิ่มเงินซื้อสินค้าเพียงไม่กี่บาท ทำให้ได้สินค้าพรีเมี่ยมกว่า ได้โดยไม่รู้สึกเสียดายที่จะจ่ายเงินเพิ่ม”

(อ้างอิง shopify.com ) 

ซึ่งมันก็สามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 

  • การให้พนักงานคอยให้คำแนะนำและโน้มน้าวใจลูกค้าให้ซื้อสินค้าอีก 1 ชิ้นในราคาที่ถูกกว่า
  • การจัดโปรโมชั่น ซื้อ 3 แถม 1
  • การจัดเซ็ทสินค้าแบบครบครันในราคาที่ถูกกว่า

และยังมีวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่คุณสามารถนำไปปรับใช้กับร้านค้าปลีกของคุณค่ะ ยังไงก็ลองดูตัวอย่างด้านล่างนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางได้นะคะ 

ตัวอย่างของการขายสินค้าแบบ  Up-selling

โปรโมชั่นขายสินค้าของเครื่องสำอาง

Pic by cosmenet.in.th

✔ สรุป 

การจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายให้ร้านค้าของคุณไม่จำเป็นเลยที่จะต้องลดราคาเยอะ ๆ อย่างเดียว ยังมีวิธีอื่นอีกมากมาย

ทั้งสร้างคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกลูกค้าด้วยสื่อสารแบรนด์ให้เข้ากับสถานการณ์ตอนนั้น การใช้จิตวิทยาทำป้ายราคา การซื้อสินค้าครบตามจำนวนเงินแล้วได้ส่วนลด หรือจะเป็นการเปลี่ยนส่วนลดให้เป็นอย่างอื่นที่พิเศษ 

ซึ่งนอกจากคุณจะไม่ต้องทำส่วนลดเยอะ ๆ ให้มันสร้างผลกระทบกับกำไรแล้ว คุณอาจจะได้ยอดขายเพิ่มไปด้วยอีกต่างหาก ยังไงก็ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ 

ขอบคุณข้อมูลแหล่งที่มาเพิ่มเติมจาก

ใส่ความเห็น