Hypermarket คืออะไร? พร้อมรู้จัก 2 เจ้าใหญ่ที่ครองตลาด

หน้าปกบทความ Hypermarket คือ

Hypermarket คืออะไร?

Hypermarket คือ ร้านค้าปลีกที่รวมห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าด้วยกัน ซึ่งมักจะเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่มาก โดยมีสินค้าหลากหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, เสื้อผ้า, และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งช้อปปิ้งแบบครบวงจร เรียกง่าย ๆ ว่ามีทุกอย่างที่ผู้บริโภคต้องการ 

โดยแนวคิดหลักของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่นี้คือการจัดหาสินค้าทั้งหมดที่ผู้บริโภคต้องการในชายคาเดียวกัน/สถานที่เดียวกัน โดยไฮเปอร์มาร์เกตแบ่งโซนต่าง ๆ ออกไปประมาณนี้ค่ะ  

  • ซูเปอร์มาร์เก็ต

ซูเปอร์มาร์เก็ตจะเป็น Section หนึ่งในไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งก็จะมีขนาดที่ใหญ่มากแบ่งประเภทสินค้า สัดส่วนสินค้า และ ชั้นวางสินค้า ไว้เป็นโซน เหมาะกับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าตามที่ต้องการ ทั้งของใช้ภายในครัว, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหารและเครื่องปรุง, เฟอร์นิเจอร์, อุปกรณ์กีฬา, เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอื่น ๆ อีกมากมาย 

  • โซนฟู้ดคอร์ดและเครื่องเล่น 

จะเป็นโซนสำหรับนั่งรับประทานอาหาร เป็นจุดรวมตัวของหลาย ๆ ครอบครัวที่จะมานั่งทานอาหารบริเวณนี้ ส่วนใหญ่โซนฟู้ดคอร์ดจะมีเครื่องเล่นเพื่อให้ความบันเทิงแก่เด็ก ๆ ด้วย

รูปประกอบบทความ โซนเครื่องเล่นใน Hypermarket
  • โซนโรงหนัง 

เมื่อก่อนอาจจะไม่ค่อยเห็นโรงหนังในไฮเปอร์มาร์เก็ตเท่าไหร่นัก แต่ปัจจุบันไฮเปอร์มาร์เก็ตมีโรงหนังแทบทุกสาขาแล้ว อาจจะไม่ได้ใหญ่เท่ากับในห้างสรรพสินค้า แต่ก็เหมาะสำหรับคนที่ต้องการดูหนังใกล้บ้าน โดยไม่ต้องขับรถออกไปไกล 

  • โซนร้านอาหารชื่อดัง 

ก็จะมีร้านอาหารที่เป็นร้านชื่อดังตั้งกระจายไปโดยรอบแล้วแต่พื้นที่ ส่วนใหญ่ที่ขาดไม่ได้เลยจะเป็น KFC, Mcdonal’s, Yayoi, ฮะจิบัง ราเมน, บาร์บิคิว พลาซ่า เป็นต้น 

  • โซนธนาคาร 

Hypermarket มีธนาคารเจ้าต่าง ๆ ให้บริการ ซึ่งก็จะจัดเป็นโซนรวมกันไว้มุมหนึ่ง 

  • โซนอุปกรณ์เกี่ยวกับมือถือ

มีซุ้มขายมือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตด้วย ร้านเหล่านี้ก็จะขายมือถือ, ขายเคสมือถือ, อะไหล่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ,  รับเทิร์น, และรับซ่อมด้วย 

walmart ที่แคนาดา

ตัวอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในต่างประเทศ ก็จะมี Walmart Supercentre, Fred Meyer, Meijer และ Super Kmart

ส่วนของไฮเปอร์มาเก็ตในประเทศไทย ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็จะมี Lotus’s  (โลตัส), Big-C (บิ๊กซี) 

“Hypermarket” สามารถแตกแขนงออกไปและเรียกได้อีกหลายแบบด้วยกัน ได้แก่ Hyperstore (ไฮเปอร์สโตร์), Supercenter (ซูเปอร์เซ็นเตอร์), ดิสเคาน์สโตร์ (Discount Store) หรือ Superstore (ซูเปอร์สโตร์) ซึ่งชื่อแต่ละอันก็แตกต่างกันไปตามขนาดของร้านและสินค้า/บริการ

✎ Tip : ไฮเปอร์มาร์เก็ตอาจรวมถึงร้านค้าที่มีลักษณะคล้ายโกดังที่มีคลังสินค้าจำนวนมาก ซึ่งอาจนำเสนอสินค้าจำนวนมากในราคาส่งหรือลดราคาจำนวนมาก เช่น Makro (แม็คโคร) ด้วยก็ได้ แต่แม็คโครควรนิยามว่าเป็นดิสเคาน์สโตร์มากกว่า เพราะไม่ได้รวมบริการต่าง ๆ เอาไว้

Hypermarket กับ Supermarket ต่างกันอย่างไร? 

หลาย ๆ คนอาจจะงงว่า Hypermarket กับ Supermarket มันไม่เหมือนกันเหรอ? แล้วมันแตกต่างกันยังไง? เพราะปกติแล้วพวกเราจะนิยามให้ โลตัสกับบิ๊กซี เป็นซูเปอร์มาเก็ตกันซะส่วนใหญ่ 

แต่จริง ๆ แล้วมันต่างกันค่ะ เราจะสรุปเป็นข้อ ๆ เพื่อเปรียบเทียบให้ดูนะคะว่าต่างกันยังไง 

Hypermarket

Supermarket

มีขนาดใหญ่กว่า มีขนาดเล็กกว่า
รวมสินค้าและบริการทุกอย่างไว้ในสถานที่เดียว ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน
เน้นความหลากหลาย เน้นหยิบซื้อสะดวก
มีซูเปอร์มาเก็ตในนี้ และยังมีเฟอร์นิเจอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ฟู้ดคอร์ด, โรงหนัง, ลานเครื่องเล่น มีเฉพาะของใช้ในชีวิตประจำวันที่จำเป็น มีอาหารผักสด, ผลไม้, เนื้อสัตว์
ลดราคาสินค้าได้เยอะ มีโปรโมชั่นสนับสนุนการขายมากมาย เน้นให้ลูกค้าประหยัด ลดราคาได้ประมาณหนึ่ง กระตุ้นการขายดึงดูดให้ลูกค้าซื้อมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลกำไร

ตัวอย่าง “ซูเปอร์มาเก็ต” ของไทยที่เราน่าจะรู้จักกันดี เช่น Tops (ท็อปส์), Villa Market (วิลล่า มาร์เก็ท), Foodland (ฟู้ดแลนด์), Home Fresh Mart (โฮมเฟรชมาร์ท) 

เรื่องราวของตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตในไทย 

ประเทศไทยของเรา Hypermarket คือตลาดที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยมาก โดยมีแค่ 2 เจ้า นั่นก็คือ Tesco Lotus กับ Big-C ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็มีธุรกิจนี้หลายเจ้าอยู่เหมือนกันค่ะ แต่ท้ายที่สุดก็ได้ปิดตัวลงไปเพราะวิกฤติเศรษฐกิจ 

หลาย ๆ คนอาจจะเคยรู้จัก, ได้ยินชื่อ, หรือเคยไป คาร์ฟูร์ (Carrefour) ซึ่งสมัยก่อนมันเคยเป็นหนึ่งไฮเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ Big 3 ร่วมกับบิ๊กซีและโลตัส 

คาร์ฟูร์ไฮเปอร์มาร์เก็ต

ภาพจาก retaildetail

แต่ท้ายที่สุดแล้วเกิดการซื้อขายหุ้นกันไปมา จึงทำให้คาร์ฟูร์ถูกยุบรวมกับบิ๊กซี ส่งผลที่ตามมาคือ ทุกสาขาของคาร์ฟูร์กลายเป็นบิ๊กซีหมด 

จนในที่สุดตอนนี้ก็เหลือแค่ 2 เจ้าที่เป็นไฮเปอร์มาเก็ตในปัจจุบัน (หมายถึงไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นห้างสรรพสินค้า+ซูเปอร์มาร์เก็ตน่ะนะ เพราะจริง ๆ แล้วแม็คโครก็เป็นอีกหนึ่งประเภทของ Hypermarket แต่เราคิดว่าอยู่ในหมวดดิสเคาน์สโตร์หรือซูเปอร์สโตร์มากกว่า) 

รู้จักกับ Big-C 

Big-C เปิดให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในนาม บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บนถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2537 โดยบริษัทที่เป็นเจ้าของคือ “กลุ่ม Central” ที่ร่วมหุ้นกันกับกลุ่มอิมพีเรียล 

✎ Tip : รู้หรือไม่ว่าตัว C ของ Big-C นั้นย่อมาจากคำว่า Central

ไฮเปอร์มาร์เก็ตบิ๊กซี

ภาพจาก corporate.bigc

  • เปลี่ยนเจ้าของจากเซ็นทรัลเป็นต่างชาติ

แต่เมื่อปี พ.ศ. 2542 เซ็นทรัลได้ขายหุ้นให้กับ Casino Group ผู้ประกอบการค้าปลีกจากฝรั่งเศส (เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียปี 2540) จึงทำให้บิ๊กซีกลายเป็นของชาวต่างชาติ 

  • หลอมรวมกับคาร์ฟูร์ 

พ.ศ. 2553 กลุ่มคาสิโนประมูลกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย ทำให้พวกเขากลายเป็นเจ้าของคาร์ฟูร์ และได้ปรับปรุงคาร์ฟูร์ทุกสาขาให้กลายเป็นบิ๊กซีทั้งหมด

  • เปลี่ยนเป็นของคนไทยอีกครั้ง 

คดีพลิกอีกครั้งเมื่อกลุ่มคาสิโนมีปัญหาทางการเงิน และเขาได้ขายกิจการ Big-C ให้กับ “กลุ่ม TCC” ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้างที่บางคนให้ฉายาเขาว่าเป็นเจ้าพ่อเทคโอเว่อร์ เครือข่ายของเขามีทั้ง Thaibev, Oishi Group, เสริมสุข และอีกมากมาย 

ปล. Central ก็ยังถือครองบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ในประเทศเวียดนามอยู่นะ แต่อีกไม่กี่ปีก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่คือ Go! และ Tops Supermarket 

รู้จักกับ Tesco Lotus 

Tesco Lotus เดิมทีใช้ชื่อว่า Lotus Supercenter เป็น Hypermarket ที่เปิดมาในเวลาไล่เลี่ยกันกับบิ๊กซี มีเจ้าของเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่ม CP (ที่เป็นเจ้าของ 7-11) เปิดสาขาแรกเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2537

ไฮเปอร์มาร์เก็ตเทสโก้โลตัส

ภาพจาก thailandtoday

  • เปลี่ยนเจ้าของจาก CP เป็นชาวต่างชาติ

เช่นเดียวกันบิ๊กซีเลยค่ะ เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชียปี 2540 กลุ่มซีพีต้องตัดสินใจขาย Lotus ให้กับ Tesco Group ผู้ประกอบการค้าปลีกประเทศอังกฤษ ทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตของคนไทย กลายไปเป็นของชาวต่างชาติ โดยได้รวมชื่อเป็นแบรนด์ใหม่คือ Tesco Lotus 

  • ยื้อยุดระหว่าง 3 ยักษ์ เพื่อเป็นผู้นำค้าปลีกอันดับ 1 

อันนี้สนุกมากค่ะ คือว่าในช่วงปี พ.ศ. 2557 กลุ่มเทสโก้ถูกตรวจสอบว่ารายงานบัญชีไม่ตรงกับจำนวนจริง ทำให้ต้องเสียค่าปรับและขาดทุนกว่า 3 แสนล้านบาท เขาจึงมีความคิดจะขายกิจการ Tesco Lotus ในประเทศไทยและมาเลเซีย 

ทีนี้กลุ่มซีพีก็ตาลุกวาวเลยสิคะ เพราะอยากได้กิจการที่สร้างมากับมือคืน แต่กลุ่มเทสโก้กลับเปลี่ยนใจ จึงเกิดการเจรจาต่อรองไปมา โดยกลุ่มซีพีก็เจรจาหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ 

ปี พ.ศ. 2562 กลุ่มเทสโก้ตัดสินใจจะขายกิจการในประเทศไทยและมาเลเซียอีกครั้ง ทีนี้กลุ่มที่สนใจจะซื้อก็มี กลุ่ม CP (เจ้าของเดิม), กลุ่ม Central (เจ้าของบิ๊กซีคนเก่าที่สูญเสียไฮเปอร์มาร์เก็ตไปเมื่อหลายสิบปีก่อน), และกลุ่ม TCC (เจ้าของบิ๊กซีคนคนใหม่) 

ความมันส์มันอยู่ตรงนี้ค่ะ 😀 แล้วใครล่ะ ที่จะได้ Tesco Lotus ไฮเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่นี้ไปครอง???  เพราะถ้าใครได้ไปเนี่ย.. เขาจะกลายเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของวงการค้าปลีกเลยทีเดียว

1. กลุ่ม CP

ถ้าได้ไปเขาจะครองตลาดทั้ง 1. ค้าส่งจากแม็คโคร 2. ร้านสะดวกซื้อจาก 7-11 และ 3. ไฮเปอร์มาร์เก็ตจาก Tesco Lotus เรียกได้ว่าเขาจะควบรวมกิจการทุกอย่าง จะมีอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าที่แข็งแกร่งมากแบบสุด ๆ ในประเทศ เป็นเจ้าพ่อด้านค้าปลีกไปเลย เพราะไม่ว่าจะตลาดไหนเจ้าของก็คือ CP 

2. กลุ่ม Central

จากที่เคยเสียบิ๊กซีไป คิดว่าถ้าได้เทสโก้โลตัสมาอยู่ในมือ ก็จะเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ครอบคลุมเช่นกัน พวกเขาจะมีทั้ง 1. ห้างสรรพสินค้าจาก Central, ซูเปอร์มาร์เก็ตจาก Tops, ร้านสะดวกซื้อจาก FamilyMart และไฮเปอร์มาร์เก็ตจาก Tesco Lotus เรียกว่าถ้าได้ไปก็จะเพิ่มเม็ดเงินได้ กลายเป็นคนที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นทางธุรกิจนั่นเอง 

3. กลุ่ม TCC

ที่เป็นเจ้าของบิ๊กซีอยู่แล้ว ถ้าเขาได้เทสโก้โลตัสมาอีก เขาจะกลายเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตแบบ 100% คิดภาพว่า Tesco Lotus กับ Big C มีเจ้าของเป็นคนเดียวกันสิคะ .. แค่คิดก็ใจเต้นแรงแล้ว มันแบบ.. ยิ่งใหญ่อ่ะ เงินของคนไทยทั้งหมดจะไปไหนได้ ฮ่าๆ 😀

ซึ่งต่อมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็ได้ออกมาบอกว่ามันส่อว่าจะผูกขาดทางการค้า ต้องได้รับอนุญาตจากพวกเขาก่อนและจะติดตามการรวมธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิด 

และท้ายที่สุด กลายเป็นใครได้ไปรู้ไหมคะ?  กลุ่มที่จะกลายเป็นมหาอำนาจทางธุรกิจค้าปลีกนั่นก็คือ.. ท้าดาาาา….

กลุ่ม CP นั่นเองงง!! เรียกได้ว่า ได้ “Lotus” กลับคืนมาโดยสมบูรณ์แบบในราคาประมูลมากถึง 338,445 ล้านบาท!

ซึ่งกระบวนการซื้อขายทั้งหมดเสร็จไปเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 หรือปลายปีที่ผ่านมานั่นเองค่ะ 

ทำให้เรานึกถึงคำพูดของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ที่เขาบอกประมาณว่า

“การขายโลตัสออกไปวันนั้น ทำให้เห็นความผูกพันกับแบรนด์โลตัส ในฐานะที่เป็นผู้สร้างมากับมือ”

  • การรีแบรนด์ของ Lotus

ตอนแรกคนเขียนก็แปลกใจเหมือนกันนะคะว่าทำไม Lotus Express แถวบ้านถึงได้…

  • เปลี่ยนป้ายใหม่
  • เปลี่ยนธีมสีใหม่ของร้านให้ดูทันสมัยมากขึ้น โดยใช้แบล็คกราวน์สีเขียวพาสเทล
  • แล้วยังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Lotus’s อีก โดยตัวอักษรจะเป็นคำว่า Lotus สีขาว และตัว ‘s เป็นสีเหลือง เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับแบ็คกราวด์
New rebranding Lotus hypermarket

ภาพการรีแบรนด์โลตัส : by bangkokpost.com

ตอนนี้ก็เลยได้คำตอบแล้วว่า เจ้าของเก่าเขาได้มันกลับคืนมาแล้วค่าาา โดยตอนนี้ทาง CP กำลังเริ่มรีแบรนด์ Tesco Lotus ทุกสาขาให้กลายเป็น Lotus’s นำร่องโดยสาขาเลียบด่วนรามอินทรา ที่เปลี่ยนป้ายไปเรียบร้อยแล้ว 

นี่ก็เป็นมหากาพย์ที่เราเอามาเล่าสู่กันฟังว่า Hypermarket ทั้งสองเจ้าที่มีอยู่ในประเทศไทย มีความเป็นมาอย่างไร และใครเป็นเจ้าของค่ะ

✎ สรุป

มาดูสรุปกันค่ะว่าทั้งหมดที่เราเขียนมามีใจความสำคัญอะไรบ้าง 

– Hypermarket คือ ร้านค้าปลีกที่รวมห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าด้วยกัน 

– แนวคิดเบื้องหลัง Hypermarket คือการจัดหาสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผู้บริโภคต้องการมารวมกันให้อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน

– ไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ขายสินค้าในปริมาณมาก เพื่อเน้นให้ลูกค้าซื้อไปทีละเยอะ ๆ ไม่เหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นซื้อทีละไม่กี่ชิ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

– ไฮเปอร์มาร์เก็ตในไทย มี 2 เจ้าคือ Lotus (ที่ตอนนี้กลุ่ม CP เป็นเจ้าของ) กับ Big-C (ถือครองโดยกลุ่ม TCC) เราอาจจะเห็นการตลาดที่ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดเกิดขึ้นในอนาคต เพราะตอนนี้เป็นคนไทยทั้งสองเจ้าที่มาบริหารแล้ว รอดูกันได้เลยค่ะ! 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกที่เรานำมาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ ต่อไปจะมีเรื่องราวดี ๆ อะไรอีกต้องติดตาม PN Storetailer กันด้วยนะคะ 

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก

ใส่ความเห็น